ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระบรมบรรพต
รูปแบบของบรมบรรพตหรือภูเขาทองที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆังสีทอง ตั้งอยู่บนเนินดินสูงก่อแนวกำแพงคอนกรีตล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้น 2 ทางไปสู่อาคารโถง ซึ่งมีบันไดขึ้นไปยังลานประทักษิณรอบองค์พระเจดีย์ที่อยู่ด้านบนสุด องค์เจดีย์เป็นทรงระฆังศิลปะรัตนโกสินทร์แบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะอยุธยาที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
พระอุโบสถเป็นอาคารจตุรมุข หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มุขด้านตะวันออกขยายยาว มุขตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองซึ่งเป็นประธานในพระอุโบสถ มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อกับพระระเบียงมีหลังคาโอบล้อมไปทางด้านหลังพระอุโบสถด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน 4 ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน 2 ตัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียน มุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้าบานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพทวารบาล ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมารแบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก ซุ้มประตูหน้าต่างประดับกระจกสีหลังคาพระอุโบสถเป็นแบบไทยประเพณีประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีนหน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯให้ทำเป็นตราพระราชลัญจกรที่สำคัญของแผ่นดิน ได้แก่ 1. มุขตะวันออก เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูง 2. มุขตะวันตก เป็นรูปอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ" 3. มุขเหนือ เป็นรูปช้างสามเศียรเชิญบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต" 4. มุขใต้ เป็นรูปจักร ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร"
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตมหาสมาคมมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ (Italian Renaissance) และนีโอคลาสสิก (Neo classic) ตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี มีจุดเด่น คือหลังคาโดมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆโดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดงภายในพระที่นั่ง บนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เขียนบนปูนเปียก เป็นภาพพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของรัชกาลที่ 1-6 จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของ นายซี. รีโกลีและศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี ได้แก่เพดานโดมด้านทิศเหนือ เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมรเพดานโดมด้านทิศตะวันออก เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปถัมภ์งานศิลปะเพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วยพระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนนิกายต่างๆเพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกทาสเพดานโดมด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ พ.ศ. 2454 เพดานโดมกลาง ซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพดานนับจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกัน “วปร.” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดราชาธิวาส
พระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเดิมเป็นด้านหน้าของวัด ปีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ภายในพระอุโบสถแบ่งเป็น 3 ส่วนส่วนแรกเป็นโถงระเบียงด้านหน้า ส่วนกลางเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธี และประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณีจำลองซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นเพื่อเป็นพระประธาน มีนพปฎลมหาเศวตฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียร หลังพระประธานเป็นซุ้มคูหา มีภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในแสดงเรื่องพระเวสสันดรชาดก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้ร่างภาพ และ ศ. ซี. ริโกลี (C. Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียน เป็นผู้เขียนด้วยการใช้สีปูนเปียก (Fresco)ส่วนท้ายเป็นที่ประดิษฐานพระสัมพุทธวัฒโนภาสพระพุทธรูปประธานองค์เดิม ภายนอกพระอุโบสถที่ด้านหน้าก่อมุขเป็นซุ้มบันแถลงซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะลพบุรี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีฟ้า ที่หน้าบันกลางประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัย มีซุ้มสองข้างประดิษฐานรูปพระสาวกนั่งขัดสมาธิพนมมือ ส่วนหลังคาด้านข้างตกแต่งด้วยซุ้มบันแถลงด้านละ 3 ซุ้มบริเวณเหนือชายคาปีกนกลงมาถึงบริเวณคอสอง
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งพิมานจักรี
พระที่นั่งพิมานจักรีเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐฉาบปูน มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบยุโรปแบบโกธิค-โรมาเนสก์ จุดเด่นของพระที่นั่งอยู่ที่ยอดโดมสีแดงซึ่งจะมีการเชิญธรงมหาราชขึ้นสูงยอดเสาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ บริเวณฝาผนังและเพดานของพระที่นั่งมีภาพเขียนลายดอกไม้แบบปูนเปียก บานประตูเป็นไม้จำหลักปิดทอง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อเหนือบานประตูว่า "ร.ร.๖" หมายถึง สมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ 6ภายในชั้น1ของพระที่นั่งพิมานจักรีประกอบด้วย ห้องเสวย ห้องธารกำนัล ห้องพระโอสถมวน ห้องนอนซึ่งเป็นห้องสำหรับให้ข้าราชบริพารเข้าเฝ้า ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเป็นโฮเต็ลวังพญาไทห้องนี้จึงกลายเป็นห้องอาหาร ชั้นที่ 2 ประกอบด้วยห้องพิพิธภัณฑ์ ห้องบรรณาคม ห้องพระบรรทม ห้องทรงพระอักษร ภายในตกแต่งแบบยุโรปภายในมีเตาผิงซึ่งด้านบนประดิษฐานพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวภายใต้พระมหามงกุฏซึ่งล้อมรอบด้วยรัศมี นอกจากนี้ยังมีภาพพญามังกรหมายถึงสัญลักษณ์แห่งความเป็นพระราชาและปีพระราชสมภพ
สถาปัตยกรรมหอศาสตราคม
หอศาสตราคมมีรูปแบบเป็นอาคารทรงไทยประเพณี ส่วนเครื่องบนหรือโครงหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวตัดขอบส้ม หลังคาซ้อน 2 ชั้น มีตับหลังคาต่อลงมาที่ด้านข้าง หน้าบันทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ลายก้านขดออกปลายเทพนม กลางหน้าบันประดับรูปเทวดายืนแท่น พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน มีบันไดทางขึ้นด้านตะวันตก ซึ่งมีเสากลมประดับบัวหัวเสารองรับชายคา พนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุลายเคลือบสีเขียว ที่ผนังอาคารเจาะช่องพระทวารและพระบัญชร ยกเว้นด้านทิศตะวันออก พระทวารและพระบัญชรเขียนลายรดน้ำเป็นภาพเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชศิราภรณ์ เครื่องราชูปโภค เครื่องอัษฎาวุธ และพระแสงราชศัตราต่างๆ
สถาปัตยกรรมหอพิสัยศัลยลักษณ์
มีรูปแบบเป็นอาคารหอคอยสูง 4 ชั้น ตั้งอยู่บนฐานอาคารที่มีลานกว้างซึ่งมีบันไดและพนักระเบียง ภายในอาคารมีบันไดเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบน ชั้น 2 มีระเบียงออกมาสู่ภายนอก ประดับพนักระเบียงด้วยกระเบื้องเคลือบ มีการใช้ระบบผนังวงโค้งช่วยรองรับน้ำหนัก ผังอาคารมีลักษณะคล้ายหอสูงทรงสี่เหลี่ยมประกบกัน 2 ชุด ดังนั้นจึงมีหลังคา 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และหลังคาตัดทรงสี่เหลี่ยม ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูน ช่องหน้าต่างมีลักษณะเป็นช่องวงโค้งมีบานไม้เปิด -ปิด ยกเว้นช่องหน้าต่างชั้นบนสุดที่เจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ
มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบเก๋งจีน พระที่นั่งก่อด้วยอิฐฉาบปูน หลังคาทรงอ่อนโค้งมุงกระเบื้องลอนเคลือบและประดับสัญลักษณ์มงคลแบบจีน กลางสันหลังคาประดับรูปมังกรดั้นเมฆ ท้องพระโรงล่างปูกระเบื้องเคลือบจากจีน มีลายรูปสัตว์ ต้นไม้และบุคคลจากเทพปกรณัมจีน คานด้านบนท้องพระโรงติดป้ายอักษรไทยเลียนแบบอักษรจีนว่า เทียนเม่งเต้ย ประดับโดยรอบอาคารด้วยไม้แกะสลักเป็นเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องสามก๊กท้องพระโรงชั้นล่างมีบันไดหินอ่อนสู่พระราชบัลลังก์แบบจีน กลางบันไดมีรูปหยิน-หยาง ด้านหลังมีบันไดขึ้นสู่ท้องพระโรงบนเป็นที่ประดิษฐานพระราชบัลลังก์แบบจีนอีกองค์หนึ่ง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐานพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยประดิษฐานอยู่ในพระวิมานเขียนลายแบบจีน ด้านเหนือของพระที่นั่งเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 5 พระแท่นบรรทมสลักลายหงส์และมังกร อีกห้องเป็นที่บรรทมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมีพระแท่นเป็นไม้สลักลายเคลือบสีทองและพระแท่นประดับมุก ด้านใต้เป็นห้องทรงพระอักษรของรัชกาลที่ 5 การตกแต่งภายในพระที่นั่งเป็นแบบจีนทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยมใช้เครื่องเรือนที่นิยมในราชวงศ์ชิง