ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมเจดีย์มหาโพธิ
เนื่องจากเจดีย์องค์นี้เป็นการจำลองแบบเจดีย์มหาโพธิ์ที่พุทธคยา ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นอาคารสองห้องที่ห้องด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ส่วนห้องด้านหลังประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ เรือนธาตุอยู่ในรูปของฐานชคตีที่รองรับศิขระห้ายอดในผังปัญจายตนะ (ศิขระหลังกลางหนึ่งขนาบด้วยศิขระบริวารทั้งสี่ทิศ) ตามระเบียบแบบอินเดีย ศิขระที่นี่เป็นศิขระรูปสี่เหลี่ยมคางหมูและประกอบไปด้วยเรือนธาตุจำลองเช่นเดียวกับเจดีย์มหาโพธิ์ที่อินเดีย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการลอกเลียนแบบมากกว่ารูปแบบที่เป็นไปตามพัฒนาการปกติ
สถาปัตยกรรมมิงคลาเจดีย์
เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนสามชั้น แต่ละชั้นประดับภาพชาดกและมีทางประทักษิณพร้อมบันไดขึ้นทุกด้าน ที่มุมประดับด้วยสถูปิกะ องค์ระฆังประดับด้วยรัดอกและบัวคอเสื้อตามแบบเจดีย์พม่าโดยทั่วไป ไม่มีบัลลังก์ ถัดขึ้นไปได้แก่ปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลีสั้นซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์แบบพม่าในศิลปะพุกาม เจดีย์แบบพม่าแท้องค์นี้ แสดงการเลียนแบบเจดีย์ชเวซิกองอย่างชัดเจน ทำให้มีรายละเอียดเกือบเหมือนเจดีย์ชเวซิกองต้นแบบอนึ่ง เจดีย์ชเวซิกองได้รับการเลียนแบบเสมอๆ ตลอดสมัยพุกามต่อเนื่องลงมาถึงสมัยหลัง
สถาปัตยกรรมเจดีย์ชเวดากอง
เจดีย์มอญมีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือ แผนผังเป็นสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมขนาดใหญ่ ฐานลาดเอียง ไม่มีบันไดขึ้นและลานประทักษิณด้านบน รวมถึงสถูปิกะมักประดับอยู่ด้านล่างเสมอ และมีปลีที่ยืดยาวเหมือนปลีกล้วย ทั้งหมดนี้แตกต่างไปจากเจดีย์แบบพม่าแท้ทุกประการ ส่วนองค์ระฆังซึ่งประดับไปด้วยรัดอกและบัวคอเสื้อ การไม่มีบัลลังก์และ “ปล้องไฉนห่างๆ” ซึ่งมีปัทมบาทรองรับปลีนั้น กลับเป็นลักษณะร่วมกับเจดีย์แบบพม่าแท้
สถาปัตยกรรมเจดีย์ชเวมอดอ
เจดีย์มอญมีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือ แผนผังเป็นแปดเหลี่ยมเพิ่มมุม ฐานลาดเอียง ไม่มีบันไดขึ้นและลานประทักษิณด้านบน รวมถึงสถูปิกะมักประดับอยู่ด้านล่างเสมอ และมีปลีที่ยืดยาวเหมือนปลีกล้วย ทั้งหมดนี้แตกต่างไปจากเจดีย์แบบพม่าแท้ทุกประการ เจดีย์องค์นี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดภายหลังแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ศิลปกรรมของเจดีย์องค์นี้จึงเป็นสมัยปัจจุบันซึ่งมีสัดส่วนไม่งดงามเท่าเจดีย์องค์เดิม
สถาปัตยกรรมเจดีย์สุเล
ฐานในผังแปดเหลี่ยมที่ประกอบด้วยบัวถลาสามชั้นและมาลัยเถาสามชั้น ถือเป็นลักษณะเฉพาะอีกแบบหนึ่งของเจดีย์มอญซึ่งเน้นความลาดเอียงของฐานเป็นหลัก ส่วนด้านบนของเจดีย์องค์นี้ อยู่ในแผนผังแปดเหลี่ยมตั้งแต่องค์ระฆังจนถึงปลียอด ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะที่งดงามของเจดีย์องค์นี้ อนึ่ง มาลัยเถาสามชั้นนี้อาจทำหน้าที่ทดแทน “ฐานเขียงกลมสามชั้น” ที่มักรองรับองค์ระฆังในศิลปะมอญ ซึ่งทำให้เจดีย์มอญแตกต่างไปจากเจดีย์แบบพม่าอย่างชัดเจน
สถาปัตยกรรมมหาเจดีย์
เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังแปดเหลี่ยมเพิ่มมุม เป็นฐานลาดตามแบบมอญ แต่กลับมีบันไดขึ้นและมีทางประทักษิณด้านบนตามแบบพม่า ถัดขึ้นไปได้แก่ฐานเขียงในผังกลมจำนวนมากตามแบบมอญ รองรับองค์ระฆัง ส่วนยอดเป็นของซ่อมใหม่สมัยปัจจุบัน การที่เจดีย์องค์นี้มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะมอญและศิลปะพม่านั้น สอดรับกับประวัติศาสตร์ของพม่าในระยะนั้นที่ราชวงศ์ตองอูของพม่าได้ยกทัพลงมายึดครองเมืองหงสาวดีของชาวมอญ จึงทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างเจดีย์สองแบบ
สถาปัตยกรรมไจก์ติโย
ก้อนหินที่แขวนอยู่บนหน้าผา เกือบจะร่วงหล่นแต่ไม่ร่วงหล่น ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ต่อมาถูกดัดแปลงให้กลายเป็นพุทธสถานได้ ชาวกระเหรี่ยงพื้นถิ่นผู้นับถือผีมาก่อนคงจะสังเกตเห็นความมหัศจรรย์ดังกล่าวและสถาปนาก้อนหินดังกล่าวให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต่อมาได้ถูกดัดแปลงเป็นพุทธสถานโดยชาวมอญและมีการแต่งตำนานแบบพุทธเพื่อโยงความศักดิ์สิทธิ์เข้ากับความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติดังกล่าว
สถาปัตยกรรมเจดีย์กองมูดอ
เจดีย์ประกอบด้วยอัณฑะทรงโอคว่ำขนาดใหญ่ตามแบบศิลปะลังกาสมัยอนุราธปุระ ฐานเตี้ยๆ ในผังกลม ทั้งหมดนี้แสดงการจำลองแบบมาจากศิลปะลังกา อย่างไรก็ตาม ด้านบนเจดีย์กลับไม่ปรากฏหรรมิกาและฉัตรวลี ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกประหลาด