ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
คำสำคัญ :
ชื่อหลัก | พระบรมมหาราชวัง |
---|---|
ชื่ออื่น | วังหลวง |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.750056 Long : 100.491313 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661236.93 N : 1520582.89 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เขตพระราชฐานชั้นกลาง พระบรมมหาราชวัง |
ประวัติการสร้าง | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพื้นที่พระตำหนักเดิมที่ทรงพระราชสมภพ และเคยเสด็จประทับเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์พระที่นั่งองค์นี้ออกแบบการก่อสร้างโดย นายยอน คลูนิซ สถาปนิกชาวอังกฤษ |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้อำนวยการซ่อม และหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นผู้ควบคุมการปฏิสังขรณ์ |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สูง 3 ชั้น แบ่งเป็น 3 มุข โดยมีบริเวณที่เรียกว่า มุขกระสันเชื่อมต่อถึงกันจากด้านตะวันออกถึงตะวันตก มุขทั้ง 3 รองรับเครื่องหลังคาทรงปราสาทยอดส่วนหลังคาและยอดพระที่นั่งเป็นทรงปราสาทยอดแบบไทยประเพณี แต่ด้วยการประกอบเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก จึงทำให้มีสัดส่วนที่ต่างไปจากพระมหาปราสาทองค์อื่น เช่น ความเอียงลาดของหลังคาที่น้อยลง เครื่องลำยองที่มีขนาดอ้วนและสั้นกว่าปกติ เป็นต้น มุขกลางมีมุขเด็จสำหรับเสด็จออก ที่พระเฉลียงของมุขเด็จประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแบบเหมือนจริงทำด้วยโมเสก ตัวอาคารตกแต่งด้วยศิลปะตะวันตกยุคเรเนสซองส์ ประดับช่องหน้าต่างวงโค้งที่ชั้นบน ส่วนชั้นที่สองเป็นช่องหน้าต่างในกรอบสี่เหลี่ยม คั่นจังหวะด้วยเสาโครินเธียนติดผนัง รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมมีความเปลี่ยนแปลงไปจากพระมหาปราสาทแบบไทยประเพณี กล่าวคือ มีการประดับสัญลักษณ์ต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ใช้รูปนารายณ์ทรงครุฑอีกต่อไป แต่ได้ใช้รูปสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น พระจุลมงกุฎหรือพระเกี้ยวประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า รองรับด้วยช้างสามเศียรซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปจักรและตรีล้อมด้วยสายสังวาลนพรัตน์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงพระราชวงศ์จักรี รวมทั้งยังประดับตราประจำแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประกอบด้วยพระที่นั่ง 11 องค์ต่อเนื่องกัน ปัจจุบันเหลือเพียงบางองค์ที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร สำหรับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทซึ่งเป็นประธานของหมู่พระที่นั่งนี้ เป็นพระที่นั่งแบบตะวันตก แต่ส่วนยอดแก้เป็นแบบไทย โดยทำตามคำแนะนำของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้นเพื่อให้เป็นพระมหาปราสาทในรัชกาลที่ 5 และเป็นพระเกียรติยศสืบไป พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทประกอบด้วย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันออก องค์กลาง องค์ตะวันตก และมุขกระสันเชื่อมท้องพระโรงกลาง และท้องพระโรงหลัง ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นที่ประดิษฐานสิ่งสำคัญ เช่น พระที่นั่งพุดตานถมภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรซึ่งประดิษฐาน ณ ท้องพระโรงกลาง นอกจากนี้ บริเวณชั้นบนยังเป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 -8 รวมทั้งพระอัฐิพระบรมวงศ์ชั้นสูง |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ประเพณีในราชสำนัก |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | ศิลปะตะวันตกยุคเรเนซองส์ |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-05-26 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | สำนักราชเลขาธิการ. สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม.กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์, 2543. |