ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระบรมธาตุดอนเต้า

คำสำคัญ : ศิลปะล้านนา, พระบรมธาตุดอนเต้า, วัดพระแก้วดอนเต้า, วัดพระแก้วดอนเต้าสุขาดาราม, เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์

ชื่อหลักวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเวียงเหนือ
อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 18.301294
Long : 99.499578
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 552796.66
N : 2023592.33
ตำแหน่งงานศิลปะเจดีย์ประธานของวัดพระแก้วดอนเต้า อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหาร

ประวัติการสร้าง

วัดพระแก้วดอนเต้ามีประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนันตยศเมื่อพ.ศ. 1223 แต่จากรูปแบบของพระบรมธาตุดอนเต้าน่าจะมีอายุอยู่ในต้นพุทธศตวรรษที่ 21

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่ออิฐถือปูน

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ฐานล่างสุดเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยมยืดท้องไม้สูงประดับลูกแก้ว 2 เส้น ถัดขึ้นมาเป็นชุดฐานเขียง 3 ฐานต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายยืดท้องไม้สูงประดับลูกแก้ว 2 เส้นในผังยกเก็จ ต่อด้วยชั้นเขียงในผังกลม 3 ฐาน ชุดฐานรองรับองค์ระฆังเป็นชุดบัวถลา บัวปากระฆังประดับลายกลีบบัว องค์ระฆังและบัลลังก์อยู่ในผังกลมต่อด้วยก้านฉัตร บัวฝาละมี ปล้องไฉน ปลีขนาดใหญ่ ฐานของปลีมีแถวกลีบบัว เหนือปลีเป็นปัทมบาท ปล้อมไฉน 3 ชั้นและปลียอด ชั้นบนสุดเป็นฉัตร 7 ชั้น มีแนวกำแพงที่มีพนักระเบียงรูปคล้ายใบเสมา มีซุ้มประตูที่ทิศตะวันออก ตะวันตกและเหนือ ที่มุมมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป

สกุลช่างลำปาง
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เจดีย์ศิลปะล้านนาสกุลช่างลำปาง

ข้อสังเกตอื่นๆ

1. รูปแบบเจดีย์ที่มีการผสมผสานระหว่างสุโขทัยและล้านนาและการมีบัลลังก์ในผังกลมเป็นรูปแบบที่อาจเรียกว่าสกุลช่างลำปางได้

2. เนื่องจากมีการบูรณะในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์ ทำให้เจดีย์องค์นี้มีองค์ประกอบบางประการคล้ายกับศิลปะพม่า เช่น กำแพงที่มีพนักระเบียงรูปคล้าบใบเสมา กลีบบัวปากระฆังและส่วนยอดของเจดีย์

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุพุทธศตวรรษที่ 21
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานพระเจ้าดอนเต้าได้เล่าว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังม่อนดอนเต้าและได้แสดงธรรมพร้อมกับกล่าวว่าม่อนนี้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มาสร้างบารมี พระองค์ยังได้บรรจุพระเกศาธาตุ 108 เส้นไว้ในผอบทองคำเช่นเดียวกับพระอดีตพุทธเจ้าได้เคยกระทำและนำไปบรรจุในพระบรมธาตุพร้อมทั้งกล่าวว่าในอนาคต พื้นที่นี้จะมีบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรือง พระเจ้าอโศกมหาราชและพระมหินทร์จะนำพระธาตุมะแกวและหัวใจมาบรรจุไว้ที่พระบรมธาตุแห่งเมืองกุกุตเขลางค์นครนี้

ต่อมาบ้านเมืองเกิดความยากแค้น เมื่อถึง พ.ศ. 600 ชุมภูจิตตะได้เกิดในเมืองนี้และได้เป็นกษัตริย์ พระองค์ศรัทธาในพุทธศาสนาและชักชวนประชาชนให้ก่อพระบรมธาตุให้ใหญ่กว่าเก่า ได้ก่อวิหารทางทิศตะวันออก สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ทางทิศตะวันตก บ้านเมืองก็กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีก

เมื่อถึง พ.ศ. 1100 ปี เกิดข้าวยากหมากแพงอีก มีเทพบุตรมาเกิดในเมืองซึ่งต่อมาได้บวชเป็นภิกษุและได้เป็นพระมหาเถระ ท่านมีความปรารถนาจะสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้แก่นจันทน์แต่หาไม่ได้ ครั้งนั้นมีเทวดามาจุติเป็นนางสุชาดา มีความศรัทธาในศาสนา วันหนึ่งได้เห็นผลแตงโมซึ่งพญานาคได้นำแก้วมรกตจากเมืองนาคมาใส่ไว้มีสีสันสวยงามก็ได้นำไปถวายพระมหาเถระ เมื่อเห็นแก้วมรกตข้างในจึงได้นำมาสลักเป็นพระพุทธรูปแต่ไม่สำเร็จ พระอินทร์จึงเนรมิตตนเป็นตาผ้าขาวและช่วยจนสำเร็จ แต่นั้นม่อนดอนเต้าจึงได้ชื่อว่าวัดพระแก้วดอนเต้า

ต่อมานางสุชาดาถูกกล่าวร้ายว่ากระทำมิจฉาจารกับพระมหาเถระ เจ้าเมืองให้ประหารชีวิตนาง พระมหาเถระจึงหนีไปด้วยความเสียใจ เมืองกุกุตนครก็เกิดภัยผู้คนย้ายไปถิ่นอื่น วัดพระแก้วดอนเต้าจึงร้าง ต่อมาหลายปีจึงมีผู้เลื่อมใสมาทำนุบำรุงให้เจริญอีกครั้ง

เนื้อหาในตำนานสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการเขียนตำนานทางเหนือ เช่น ตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่มักอ้างการเดินทางมาของพระพุทธเจ้าไปยังดินแดนต่างๆและได้ประทานพุทธทำนายเอาไว้ รวมถึงแสดงให้เห็นว่าคนในสมัยนั้นรู้จักพระเจ้าอโศกและพระ มหินทร์เถระ ซึ่งปรากฏอยู่ในตำนานของฝ่ายลังกา เช่น มหาวงศ์ ด้วย
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. พระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ตัวอย่างสำคัญของเจดีย์ในศิลปะล้านนาแบบสกุลช่างลำปางที่น่าจะมีรูปแบบเดียวกับพระบรมธาตุดอนเต้าก่อนการบูรณะโดยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์

2. เจดีย์ประธาน วัดป่าพร้าวใน จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์ในศิลปะล้านนาที่ใช้ชุดบัวถลารองรับองค์ระฆังเช่นกัน แต่มีขนาดเล็กกว่าและใช้บัลลังก์ในผังเพิ่มมุมต่างจากพระบรมธาตุดอนเต้าที่อยู่ผังกลม

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-05-23
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในเขตรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรม, 2525.

มหาวิทยาลัยศิลปากร, งานประชาสัมพันธ์. หนังสือที่ระลึกพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระอารามหลวง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2558. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2558.

ณัฏฐภัทร จันทวิช “วัดพระแก้วดอนเต้า” เมืองโบราณ. 5, 4 (เมษายน – พฤษภาคม 2552), 11 – 21.

กรมศิลปากร. ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่มที่ 12. กรุงเทพฯ: บริษัท นิพลฟิล์ม 2004 จำกัด, 2549.