ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

มณฑปวัดศรีชุม

คำสำคัญ : มณฑป, วัดศรีชุม

ชื่อเรียกอื่น-
ชื่อหลักวัดศรีชุม
ชื่ออื่น-
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเมืองเก่า
อำเภอเมือง
จังหวัดสุโขทัย
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.026873
Long : 99.693152
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 573772.36
N : 1882658.58
ตำแหน่งงานศิลปะแกนกลางวัด

ประวัติการสร้าง

วัดศรีชุมไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่ข้อความตอนหนึ่งในจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช บรรยายสิ่งต่างๆ ที่อยู่ด้านเหนือของสุโขทัยไว้ว่า “...เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว มีป่าหมากลาง...” พระอจนะดังกล่าวนี้อาจหมายถึงพระพุทธรูปองค์ใหญ่ภายในวัดศรีชุมก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางศิลปกรรมที่ควรมีอายุเก่าแก่ไปจนถึงยุคต้นสุโขทัยก็ไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะจากการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบของภาพสลักเรื่องชาดกประดับภายในอุโมงค์ พบว่าศิลปกรรมที่วัดนี้น่าจะมีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19-ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ดังนั้นพระอจนะอาจจะไม่ใช่พระพุทธรูปที่วัดศรีชุมก็ได้ หรือหากใช่ก็อาจหมายความว่าวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งภายหลังรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ก่อนขุดแต่งในมณฑปมีกองอิฐหักกากปูนทับถมอยู่เต็มจนทับหน้าตักพระพุทธรูป ส่วนองค์พระถูกเจาะตรงเข่าและตรงกลางพระนาภี พระเศียรแลเห็นรอยพอกในพระเศียรเป็นชั้นๆ พระเศียรชั้นในรัศมีเป็นดอกบัวตูม ผนังด้านหลังมีรอยแยกจากผนังบนจนถึงล่าง บริเวณลานวัดและคูน้ำปกคลุมด้วยไผ่และไม้เบญจพรรณ

มีการขุดแต่งบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2496 โดยสกัดผนังหล่อคานคอนกรีตยึดผนังตอนบน หล่อคอนกรีตทับบนสันผนัง และทำการซ่อมองค์พระโดยนายบุญธรรม พูนสวัสดิ์ และได้ทำการบูรณะมณฑป วิหารด้านหน้า มณฑปเล็ก เจดีย์ราย ปรับปรุงบริเวณ ชุดลอกคูรอบวัด งานขุดแต่งครั้งแรกนี้แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2499

พ.ศ. 2509 ผนังมณฑปด้านหน้าเกิดการแตกร้าวแยกออกจากกัน จึงได้ทำการบูรณะเพิ่มเติมเมื่อพ.ศ. 2510 โดยรื้ออิฐที่ชำรุดออก ทำการก่อผนังใหม่แทน และหล่อคานคอนกรีตซ่อนอยู่ภายใน งานแล้วเสร็จในปีเดียวกัน

ใน พ.ศ. 2541 ได้อนุรักษ์พระอจนะ สภาพก่อนการบูรณะองค์พระอจนะอยู่ในสภาพทรุดโทรมมีคราบสีเขียวและดำปกคลุมทั่วไป จึงได้ดำเนินการอนุรักษ์โดยมีการทดลองร่วมกับคณะนักวิจัยจาก Tokyo National Research Institute of Cultural Properties ก่อนจะดำเนินการอนุรักษ์โดยเริ่มจากการทำความสะอาดผิวโดยใช้อุปกรณ์มีคมแซะเอามอสและสาหร่ายออกให้หมด แล้วซ่อมผิวส่วนที่ผุกร่อน แล้วเคลือบองค์พระทั้งหมดด้วยสารเคมีช่วยให้ปูนแข็งแรงขึ้น
ลักษณะทางศิลปกรรม

มณฑปอยู่ในผังสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ภายใน มีอุโมงค์ทางเดินอยู่ภายในผนังของมณฑป อุโมงค์นี้ไต่ระดับขึ้นไปจนถึงยอด ภายในอุโมงค์ประดับตกแต่งด้วยภาพสลักเรื่องชาดก การทำอุโมงค์ระหว่างผนังและสามารถเดินไปถึงด้านบนได้เช่นนี้อาจเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมพม่าสมัยเมืองพุกาม

ส่วนยอดของมณฑปพังทลายลงแล้ว มีแนวสันนิษฐานไว้สองแบบ แบบแรกเชื่อว่าเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง แบบที่สองเชื่อว่าเป็นเจดีย์ทรงกลม
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. พระพุทธรูปภายในมณฑปวัดศรีชุมอาจเป็นพระอจนะที่เอ่ยถึงในจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง

2. ภายในอุโมงค์วัดศรีชุมมีภาพสลักเรื่องชาดกหลายสิบเรื่อง สามารถนำไปใช้ศึกษาคติความเชื่อทางพุทธศาสนาสมัยสุโขทัย และเรื่องราวทางศิลปะของสุโขทัยได้

3. สถานที่แห่งนี้เป็นที่ค้นพบจารึกวัดศรีชุม ภาษาไทย อักษรไทยสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 (พ.ศ. 1884-1910) เนื้อหาจารึกเป็นการสรรเสริญสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ซึ่งเป็นหลานพ่อขุนผาเมือง ลูกของพระยาคำแหงพระราม จารึกนี้ได้ให้ข้อมูลระยะแรกของการสถาปนาสุโขทัยได้เป็นอย่างดี
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะสุโขทัย
อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-26
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

จิราภรณ์ อรัณยะนาค, “การอนุรักษ์พระอจนะ วัดศรีชุม”, สารกรมศิลปากร 11, 5 (พ.ศ. 2541): 9 – 11.

ศิลปากร, กรม. ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.

บันลือ ขอรวมเดช. “รูปแบบศิลปะบนแผ่นภาพจารึกลายเส้นเรื่องชาดกของวัดศรีชุม จ.สุโขทัย” (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533)