ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระประโทณเจดีย์

คำสำคัญ :

ชื่อหลักวัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลพระประโทน
อำเภอเมือง
จังหวัดนครปฐม
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.815016
Long : 100.096988
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 618565.28
N : 1527539.21
ตำแหน่งงานศิลปะกลางวัด

ประวัติการสร้าง

ประวัติการสร้างพระประโทณเจดีย์มีอยู่ในตำนานซึ่งเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาโดยไม่มีหลักฐานอื่นใดรองรับ

จากรูปแบบทางศิลปกรรมแสดงให้เห็นว่าพระประโทณเจดีย์ในส่วนที่เป็นชุดฐานก่ออิฐเป็นศาสนสถานสมัยทวารวดี มีระเบียบต่างๆ เทียบได้กับเจดีย์หลายองค์ในสมัยนี้และเจดีย์ในประเทศอินเดียช่วงร่วมสมัยกัน จึงกำหนดอายุการสร้างไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา แต่ไม่ใหม่ไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 16

สำหรับปรางค์ที่ตั้งอยู่ด้านบนสุดนั้น จากหลักฐานสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งวาดภาพพระประโทณเจดีย์ในรูปแบบของปรางค์ จึงเชื่อว่าคงมีการสร้างปรางค์มาแล้วตั้งต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ทว่าปรางค์องค์ปัจจุบันมีระบบระเบียบหลายอย่างที่ต่างไปจากรูปแบบปรางค์สมัยอยุธยา เช่น ฐานแปดเหลี่ยม ยอดมิได้เป็นชั้นซ้อนแต่ตั้งตรงขึ้นไป จึงน่าจะเป็นงานซ่อมแซมหรือสร้างขึ้นใหม่ในชั้นหลังโดยช่างท้องถิ่น
ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 57 ตอนที่ 40 วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2483

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระประโทณเจดีย์เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ฐานซ้อนชั้นซึ่งสร้างขึ้นแต่ครั้งทวารวดี และปรางค์ซึ่งตั้งอยู่ด้านบนสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และซ่อมแซมครั้งใหญ่หรือสร้างใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์

ฐานซ้อนชั้นมีแผนผังด้านล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นที่ด้านทั้งสี่ ถัดขึ้นมาเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมรวม 3 เก็จ องค์ประกอบสำคัญของฐานนี้ คือ บัววลัย และผนังที่ตกแต่งด้วยเสาเป็นระยะ ทำให้พื้นที่ระหว่างเสากลายเป็นช่องสี่เหลี่ยม เสาหรือช่องสี่เหลี่ยมนี้ซ้อนกัน 2 ชั้น โดยชั้นล่างใหญ่กว่าชั้นบน ถัดขึ้นไปเป็นฐานอีกชั้นหนึ่งซึ่งองค์ประกอบหลักไม่ต่างไปจากฐานด้านล่างนัก ยกเว้นทำยกเก็จ 2 ชั้น ฐานชั้นสุดท้ายซึ่งเดิมทีอาจเป็นส่วนเรือนธาตุประดับด้วยซุ้มจระนำเรียงรายโดยรอบ

สำหรับปรางค์ที่อยู่ด้านบนสุดมีฐานแปดเหลี่ยมซ้อนชั้นกันต่อด้วยเรือนธาตุเพิ่มมุม ยอดมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกตั้งตรงขึ้นไป
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระประโทณเจดีย์ตั้งอยู่กลางเมืองนครปฐมโบราณ ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี พระประโทณเจดีย์จึงอยู่ในฐานะเจดีย์กลางเมืองและน่าจะพัฒนาเป็นคติมหาธาตุกลางเมืองในสมัยสุโขทัยและอยุธยา

พระประโทณเจดีย์นับเป็นศาสนสถานที่เหลือหลักฐานให้ศึกษาได้มากที่สุดในเมืองนครปฐมโบราณ จึงเป็นตัวอย่างสำคัญของสถาปัตยกรรมทวารวดี

แม้ว่าเมืองนครปฐมโบราณจะร้างโรยลงไป แต่ทว่าความศักดิ์สิทธิ์ของพระประโทณเจดีย์คงไม่ได้เลือนหายไปเสียทีเดียว จึงปรากฏภาพเจดีย์องค์นี้คู่กันกับพระปฐมเจดีย์ (พระประธม) ในสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะของเจดียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในภาคกลางของไทย

....

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6 มีข้อความว่า “ปโทนเมื่อสร้างศาสนาได้ 1199 ปี” อยู่ใกล้ๆภาพปรางค์ที่เชื่อว่าเป็นพระเจดีย์ ผู้เขียนข้อความดังกล่าวอาจนำข้อมูลนี้มาจากตำนานก็เป็นได้ ประโทณ
ยุคประวัติศาสตร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 12-16
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง

พุทธศาสนา

ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานการสร้างพระประโทณเจดีย์ปรากฏอยู่ในตำนานพระปฐมเจดีย์ฉบับพระยามหาอรรถนิกร และฉบับนายทอง ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกัน ดังนี้

อดีตกาลในพื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านพราหมณ์ เรียกว่า บ้านโทณะพราหมณ์ เพราะได้นำเอาโทณะหรือทะนานตวงพระบรมสาริกธาตุมาบรรจุไว้ในเรือนหินเมื่อ พ.ศ. 1133 อยู่มาวันหนึ่งมีพระยาคนหนึ่งชื่อ ท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพ มาสร้างเมืองให้ใหญ่โต เรียกว่าเมืองนครชัยศรี ครั้งนั้นกษัตริย์ลังกาอยากได้โทณะไปไว้ยังเมืองของตน จึงนำความมาแจ้งแก่ท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพ พระองค์ตอบตกลงโดยมีเงื่อนไขขอแลกเปลี่ยนกับพระบรมสารีริกธาตุ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพจะได้พระบรมสาริรกธาตุมาครอบครองแล้ว แต่ก็ไม่สามารถมอบโทณะให้กษัตริย์ลังกาได้ เพราะเหล่าพราหมณ์ทั้งหลายไม่ยินยอม ทำให้ท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพขัดเคืองและยกไพร่พลไปสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่เมืองนั้น (อาจจะหมายถึงพระปฐมเจดีย์) จากนั้นนำกำลังยึดเอาโทณะไปให้กษัตริย์ลังกาได้เป็นผลสำเร็จ

ต่อมา พ.ศ.1199 มีกษัตริย์จากละโว้นามว่า กากวรรณดิศ ได้ก่อพระเจดีย์ล้อมเรือนหินที่บรรจุโทณะ แล้วขนานนามว่า พระประโทณเจดีย์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-10-11
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

พวง พันธุลาภ. วัดพระประโทณเจดีย์สมัยทวารวดีมีประวัติ. กรุงเทพฯ : สมชายการพิมพ์, 2525.

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. เรื่องพระปฐมเจดีย์, พิมพ์ครั้งที่ 17, พระนคร : สำนักงานจัดประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์, 2511.

ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถานในเขตหน่วยศิลปากรที่ 2. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2538.

สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). พระปฐมเจดีย์ พระประโทณเจดีย์ ลุ่มน้ำบางแก้ว-บางแขม และนครปฐม มาจากไหน. นครปฐม : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์, 2549.

สุพจน์ ลีศิริอานนท์. “การศึกษารูปแบบพระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม”