ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท

คำสำคัญ : พระที่นั่ง, พระนารายณ์ราชนิเวศน์, พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท, พระนารายณ์มหาราช

ชื่อหลักพระนารายณ์ราชนิเวศน์
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลท่าหิน
อำเภอเมือง
จังหวัดลพบุรี
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.799766
Long : 100.61001
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 673268.12
N : 1636801.47
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพระราชฐานชั้นกลาง

ประวัติการสร้าง

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทคงสร้างขึ้นพร้อมๆกันกับพระนารายณ์ราชนิเวศน์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะเป็นพระที่นั่งหลัก ใช้เป็นที่ออกว่าราชการ คำให้การชาวกรุงเก่าให้ข้อมูลว่าหลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว 10 ปี จึงโปรดให้สร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2209

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 53 ตอนที่ 24 วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ได้รับการบูรณะหลายครั้ง ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2552 – 2553 โดยบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรณาไท จำกัด (มหาชน) ในโครงการบูรณะนี้มีขอบเขตในการดำเนินการบูรณะกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันตกด้านนอก และซุ้มประตูหมายเลข 1 และ 2

ต่อมาได้มีการบูรณะอีกครั้งต่อเนื่องโดยบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรณาไท จำกัด (มหาชน) โดยทำการบูรณะกำแพงต่อจากโครงการก่อนหน้า มีขอบเขตคือกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันตก ด้านใน ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศเหนือ กำแพงกั้นเขตรวมถึงซุ้มประตูและป้อมประจำทิศ รวมถึงมีการดำเนินงานทางโบราณคดีควบคู่กัน

การดำเนินงานทางโบราณคดีเป็นการขุดตรวจเพื่อดำเนินงานบูรณะในส่วนของกำแพงพระราชวังนั้น แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ การขุดตรวจฐานกำแพงพระราชวังและซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ฐานป้อมกำแพงทั้ง 6 ป้อม และตรวจรากฐานกำแพงและสิ่งก่อสร้างร่วมจำนวน 6 หลุม

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระที่นั่งองค์นี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกคือพื้นที่ด้านหน้ามีลักษณะเป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังเจาะช่องประตูและหน้าต่างทางด้านตะวันออก เหนือ และใต้ โดยรูปทรงของช่องเหล่านี้เป็นแบบโค้งแหลมหรือ Pointed Arch หลังคาที่คลุมพื้นที่ส่วนนี้สันนิษฐานว่าเป็นทรงจั่ว โครงทำจากเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องซึ่งได้พังทลายไปหมดแล้ว

ส่วนที่สองคือพื้นที่ด้านหลัง เดิมทีส่วนนี้เคยมี 2 ชั้น โดยพื้นชั้นที่สองทำจากไม้จึงสูญสลายผุพังไปหมด เหลือให้เห็นเพียงแนวเสาอิฐรับโครงสร้างและแท่นฐานใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ตรงกลางของผนังด้านตะวันออกชั้นสองมีสีหบัญชร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ในยามออกว่าราชการ ส่วนด้านข้างของผนังตะวันออกเป็นช่องประตู มีบันไดทอดลงไปสู่ห้องโถงส่วนแรก หลังคาของส่วนนี้คงเป็นยอดมหาปราสาท

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทถือเป็นพระที่นั่งสมัยกรุงศรีอยุธยาตนอปลายที่สมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง มีประวัติแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ จึงสามารถนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับพระที่นั่งองค์อื่นๆ ได้ เช่น การแบ่งพื้นที่ใช้งานเป็น 2 ส่วน โดยด้านหน้าเป็นท้องพระโรงสำหรับขุนนาง ด้านหลังยกพื้นสูงเป็นที่ตั้งพระแท่นราชบัลลังก์และพื้นที่ของฝ่ายใน

2. รูปแบบของพระที่นั่งองค์นี้แสดงการผสมผสานระหว่างประเพณีไทยกับตะวันตก ในส่วนของแบบแผนตามอย่างไทยประเพณีมี่ตัวอย่างเช่นการประดับช่องประตูหน้าต่างด้วยซุ้มบรรพแถลงและฐานสิงห์แบบอยุธยา แต่ทรงของช่องประตูบางช่องทำด้านบนเป็นยอดแหลม หรือที่เรียกว่า Pointed Arch และก่ออิฐด้านบนตามแนวตั้ง ซึ่งเป็นรูปแบบของศิลปะตะวันตกหรือเปอร์เซีย การผสมผสานดังกล่าวนี้เป็นลักษณะสำคัญของสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะอยุธยา
อายุพุทธศตวรรษที่ 23
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-07-22
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

รายงานการดำเนินงานบูรณะ (ระยะที่ 1) พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี. ลพบุรี: สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร, 2552.

ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

ศิลปากร, กรม. พระนารายณ์ราชนิเวศน์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.

สันต์ ท. โกมลบุตร. จดหมายเหตุการณ์เดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชาร์ด. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2519.