ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เจดีย์กู่กุด
คำสำคัญ : เจดีย์ทรงปราสาท, วัดจามเทวี, เจดีย์กู่กุด, วัดกู่กุด
ชื่อหลัก | วัดจามเทวี |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดกู่กุด |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | เหมืองง่า |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | ลำพูน |
ภาค | ภาคเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 18.58168 Long : 98.996078 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 98.996078 N : 2054542.31 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางวัด |
ประวัติการสร้าง | เจดีย์กู่กุดองค์นี้เชื่อว่าเป็นองค์เดียวกันกับเจดีย์มหาพล (วัดจามเทวีมีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดทุ่งมหาพล) ซึ่งปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าพระเจ้าทิตตะ (บางท่านเชื่อว่าเป็นองค์เดียวกันกับพระเจ้าอาทิตยราช) แห่งอาณาจักรหริภุญชัยสั่งให้เชลยศึกชาวละโว้สร้างขึ้น ต่อมาเจดีย์องค์นี้คงได้รับการสร้างใหม่หรือปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าสรรพสิทธิ์ (สววาธิสิทธิ) ดังรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในจารึกซึ่งค้นพบบริเวณฐานเจดีย์องค์นี้ เนื้อความสรุปได้ว่าพระองค์ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เจดีย์ที่ได้พังทลายลงเมื่อคราวแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อสร้างเสร็จโปรดให้ประดับเจดีย์ด้วยทอง |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | เจดีย์กู่กุดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทผังสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง ตกแต่งด้วยปูนปั้น มีองค์ประกอบสำคัญคือ เรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น โดยชั้นล่างมีขนาดใหญ่ที่สุด จากนั้นค่อยๆลดขนาดลงไปจนถึงชั้นที่ห้าซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด เรือนธาตุแต่ละชั้นมีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มด้านละ 3 ซุ้ม รวม 4 ด้าน ทำให้มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละชั้น 12 องค์ รวม 5 ชั้นเป็น 60 องค์ มุมทั้งสี่ของเรือนธาตชั้นที่ 1 -4 ประดับด้วยสถูปิกะ ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุชั้นที่ห้าเป็นปล้องไฉนในผังสี่เหลี่ยม ยอดสุดหักพังลงแล้ว |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | 1. เจดีย์กู่กุดถือได้ว่าเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมในศิลปะหริภุญชัยที่สมบูรณ์ที่สุด สะท้อนให้เห็นว่างานช่างของหริภุญชัยมีความเกี่ยวข้องกับดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะพม่าสมัยพุกามและอาจเกี่ยวข้องกับสัตตมหาปราสาท ศิลปะโปลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา 2. เจดีย์กู่กุดน่าจะเป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ในสมัยหริภุญชัย และเป็นต้นแบบสำคัญให้กับเจดีย์องค์อื่นๆ ในศิลปะล้านนาจำลองไปสร้าง เช่น เจดีย์กู่คำ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | หริภุญชัย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 16-18 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. สัตตมหาปราสาท เมืองโปลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา เพราะมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน อาจจะส่งอิทธิพลให้แก่กัน 2. สุวรรณเจดีย์ วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เพราะมีรูปแบบเหมือนกัน สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน หรือจำลองแบบมาจากเจดีย์กู่กุด 3. เจดีย์กู่คำ เวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่ และเจดีย์วัดพญาวัด อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ศิลปะล้านนา เพราะมีรูปแบบเหมือนกัน สันนิษฐานว่าน่าจะจำลองรูปแบบของเจดีย์กู่กุดไปสร้าง |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-07-08 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ศิลปากร, กรม.การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549. |