ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระธาตุศรีสองรัก
คำสำคัญ : พระธาตุ, เจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม, พระธาตุศรีสองรัก
ชื่อหลัก | วัดพระธาตุศรีสองรัก |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ด่านซ้าย |
อำเภอ | ด่านซ้าย |
จังหวัด | เลย |
ภาค | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 17.270075 Long : 101.140681 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 727576.11 N : 1910695.04 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางเขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | สร้างเมื่อ พ.ศ. 2103 ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา กับพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสัมพันธไมตรีระหว่างกัน เนื่องด้วยขณะนั้นพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่ากำลังพยายามแผ่ขยายพระราชอำนาจมายังกรุงศรีอยุธยาและล้านช้าง เป็นสักขีพยานในความรักสนิทสนมระหว่างกษัตริย์ทั้งสอง จึงตั้งชื่อพระธาตุเจดีย์นี้ว่า “ศรีสองรัก” นอกจากนี้พระธาตุศรีสองรักยังเสมือนเป็นหลักแดนระหว่างกรุงศรีอยุธยากับล้านช้างด้วย |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ฉบับที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระธาตุศรีสองรักสร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน มีองค์ประกอบทางศิลปกรรมลำดับจากส่วนล่างไปยังส่วนบน ได้แก่ ฐาน องค์บัวเหลี่ยม และยอด ฐาน ประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังเพิ่มมุม องค์ประกอบของฐานส่วนนี้เป็นแบบแผนของล้านช้าง คือ มีลูกแก้วขนาดใหญ่ (บัวเข่าพรหม) ซึ่งพัฒนามาจากฐานสิงห์ในศิลปะอยุธยาอยู่ด้านล่างของฐานบัว และบัวคว่ำมีส่วนปลายตวัดงอนขึ้น เป็นที่มาของการเรียกฐานบัวศิลปะล้านช้างว่า ฐานบัวงอน องค์บัวเหลี่ยม มุมทั้งสี่ประดับด้วยปูนปั้นรูปกาบ ทรวดทรงเตี้ย ส่วนล่างใหญ่จากนั้นตอนบนค่อยๆสอบเล็กลง ยอด ประกอบด้วยบัลลังก์สี่เหลี่ยมเตี้ยๆ และยอดกรวยในผังสี่เหลี่ยม ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งของปล้องไฉนและปลีของเจดีย์ทรงกลม |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระธาตุศรีสองรักมีรูปแบบเป็นทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งเป็นรูปแบบเอกลักษณ์ของธาตุเจดีย์ศิลปะล้านช้าง ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2103 นับได้ว่าเป็นพระธาตุทรงบัวเหลี่ยมที่เก่าแก่ที่สุด คงเป็นต้นแบบให้พระธาตุองค์อื่นๆทำตาม นอกจากนี้พระธาตุศรีสองรักยังมีนัยสำคัญทางความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับล้านช้างด้วย เพราะกษัตริย์ของอาณาจักรทั้งสอง คือ สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ และพระไชยเชษฐาธิราช ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เสมือนเป็นสัมพันธไมตรีระหว่างกัน และยังเป็นจุดแบ่งแดนของกรุงศรีอยุธยากับล้านช้างด้วย |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ล้านช้าง |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 22 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-09-09 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ประภัสสร์ ชูวิเชียร. ศิลปะลาว. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2555. สิริกุล จุมพล และคนอื่นๆ. แหล่งท่องเที่ยวอีสานบน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2534. |