ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เศียรพระโพธิสัตว์

คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พระโพธิสัตว์, ลพบุรี, ศิลปะเขมรในประเทศไทย, เศียร, บ้านโตนด

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.7576
Long : 100.492222
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661329.97
N : 1521418.09
ตำแหน่งงานศิลปะจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครแบบไพรกเมงและกำพงพระ จึงเชื่อว่าหล่อขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อสำริด

ขนาดสูง 73 เซนติเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

เศียรพระโพธิสัตว์องค์นี้อยู่ในสภาพชำรุดแต่ได้รับการอนุรักษ์จนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พระพักตร์ยาว พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ เดิมทีพระเนตรคงเคยฝังอัญมณีหรือของมีค่าแต่ได้สูญหายไปแล้ว พระนาสิกและพระโอษฐ์สมส่วน มีพระมัสสุ พระเกศายาวหวีเสยเกล้าเป็นมวยอยู่เหนือพระเศียร มวยพระเกศาเป็นทรงกระบอกขนาดใหญ่ พระเกศารูปวงโค้งประดับด้วยเม็ดไข่ปลาตกซ้อนลงมาเป็นชั้นๆ สัญลักษณ์ที่เคยประดับอยู่กลางมวยผมสูญหายไปแล้ว จึงไม่อาจทราบได้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์ใด

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เศียรพระโพธิสัตว์องค์นี้พบร่วมกันกับชิ้นส่วนอื่นๆ ของประติมากรรม แต่สภาพชำรุดมากจนไม่สามารถคินสภาพเดิมได้ สถานที่ค้นพบคือบ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ความสำคัญของประติมากรรมนี้เป็นเช่นเดียวกันกับกลุ่มประติมากรรมจากบ้านฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ คือ เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเจริญขึ้นของพุทธศาสนามหายานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นอย่างน้อย รูปแบบสัมพันธ์กับศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร อาจตั้งคำถามได้ว่าพุทธศาสนามหายานที่เข้ามานี้คงรับผ่านมาจากกัมพูชา

นอกจากนี้ขนาดที่ใหญ่โตสะท้อนให้เห็นว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกลุ่มคนที่มีความก้าวหน้าหรือเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีหล่อสำริดขนาดใหญ่ ไม่แพ้กลุ่มวัฒนธรรมอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข้อสังเกตอื่นๆ

ค้นพบที่บ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, เขมรในประเทศไทย
อายุพุทธศตวรรษที่ 13
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายมหายาน
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนามหายาน
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. พระโพธิสัตว์จากเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์

2. ประติมากรรมสำริดจากเขาปลายบัด อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประติมากรรมขอม. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2515.

สุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปะขอม. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2533.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทาลัยศิลปากร, 2547.