ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

กู่คำ

คำสำคัญ : กู่คำ, เจดีย์เหลี่ยม, วัดจามเทวี, เจดีย์กู่กุด, วัดกู่คำ

ชื่อเรียกอื่นเจดีย์เหลี่ยม
ชื่อหลักวัดกู่คำ
ชื่ออื่นวัดกู่คำ
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลท่าวังตาล
อำเภอสารภี
จังหวัดเชียงใหม่
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 18.754046
Long : 98.995629
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 499539.31
N : 2073613.57
ตำแหน่งงานศิลปะกึ่งกลางวัด

ประวัติการสร้าง

ตำนานทางภาคเหนือกล่าวถึงประวัติเจดีย์กู่คำว่าสร้างขึ้นโดยพระยามังราย รายละเอียดแตกต่างกันออกไปบ้าง เช่นศักราชที่ให้ไว้ไม่ตรงกัน โดยชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1847 อันเป็นปีเดียวกันกับที่พระองค์สร้างเวียงกุมกามขึ้นทั้งยังบรรยายรูปแบบไว้เล็กน้อยว่า “เรียงรายไปด้วยพระพุทธรูป 60 องค์” ส่วนในตำนานมูลศาสนาบรรยายไว้ว่า “ก่อเป็นสี่เหลี่ยม แต่ละด้านให้มีพระพุทธเจ้า 14 องค์ แล้วให้ใส่คำแต่ยอดลงมาดูงามนัก ใส่ชื่อว่ากู่คำ”

ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยหลวงโยนการพิจิตร (หม่องปันโหย่) คหบดีชาวพม่า เมื่อ พ.ศ. 2449
ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 97 ตอนที่ 41 วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2523

ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์กู่คำก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน ตกแต่งด้วยปูนปั้น รูปแบบโดยรวมคล้ายเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน

เจดีย์กู่คำเป็นทรงปราสาทในผังสี่เหลี่ยม ฐานล่างสุดมีพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ภายในซุ้มด้านละ 1 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ชั้นล่างมีขนาดใหญ่ที่สุด ชั้นห้ามีขนาดเล็กที่สุด แต่ละชั้นมีพระพุทธรูปประทับยืนอยู่ภายซุ้มด้านละ 3 องค์ รวม 4 ด้าน 12 องค์ รวม 5 ชั้น เป็น 60 องค์ ที่มุมของเรือนธาตุแต่ละชั้นประดับด้วยสถูปิกะ

เหนือจากเรือนธาตุชั้นที่ห้าเป็นส่วนยอดในผังสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยกลีบบัว ปลี และฉัตร ส่วนยอดนี้หุ้มทองจังโก
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. กู่คำหรือเจดีย์เหลี่ยมมีประวัติว่าสร้างขึ้นโดยพญามังราย จึงถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมล้านนายุคแรกเริ่มได้

2. รูปแบบของกู่คำหรือเจดีย์เหลี่ยมใกล้ชิดกับเจดีย์กู่กุดในศิลปะหริภุญชัยเป็นอย่างมาก ความใกล้ชิดนี้อาจเกิดจากการจำลองแบบมาสร้างก็เป็นได้ ประเด็นดังกล่านี้สามารถนำไปเชื่อมโยงกับหลักฐานอื่นๆ เพื่อศึกษาถึงศิลปวัฒนธรรมหริภุญชัยที่มีต่อศิลปวัฒนธรรมล้านนาได้

ยุคประวัติศาสตร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ศิลปะหริภุญชัย เพราะมีรูปแบบเดียวกัน เข้าใจว่าน่าจะเป็นต้นแบบให้แก่เจดีย์กูคำ

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-07-08
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ตำนานมูลศาสนา. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557.

รัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. กรงเพทฯ : กรมศิลปากร, 2552.

ศิลปากร, กรม.การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549.