ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม

คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ชื่อเรียกอื่น จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ชื่อหลักพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะจิตรกรรม
ตำบลชนะสงคราม
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.757913
Long : 100.492054
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661323.41
N : 1521406.09
ตำแหน่งงานศิลปะผนังภายในพระที่นั่ง

ประวัติการสร้าง

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2338 โดยสมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เดิมใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ ต่อมาเมื่อมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาจากเมืองเหนือจึงได้เปลี่ยนแปลงพระที่นั่งให้เป็นหอพระ พระราชทานนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ภาพเขียนสีฝุ่น

ประวัติการอนุรักษ์

ในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงปฏิสังขรณ์พระที่นั่งและพระราชทานชื่อใหม่ว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พ.ศ.2476 กรมศิลปากรได้บูรณะภายนอกพระที่นั่ง

ลักษณะทางศิลปกรรม

จิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีรูปแบบเป็นงานจิตรกรรมไทยประเพณี เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่างส่วนผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมโดยเหล่าเทพเทวดาแต่งกายยืนเครื่องอยู่ในท่านั่งเรียงเป็นแถว ต่างพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีภาพพระเจดีย์ที่ผนังท้ายพระที่นั่งส่วนผนังด้านหน้าพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธาน เขียนภาพเทวดาชั้นพรหมประทับนั่งเรียงแถวพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระทุสสะเจดีย์ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต

เทคนิคการเขียนภาพยังคงเป็นแบบไทยประเพณีที่นิยมในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวคือ ใช้เทคนิคการระบายสีแล้วตัดเส้น ภาพบุคคลสำคัญแสดงออกผ่านกิริยาที่เป็นนาฏลักษณ์ ใช้เส้นสินเทาแบ่งเรื่องราวตอนต่างๆ มีการปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญของภาพ เป็นต้น

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเชื่อว่าจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นงานช่างจิตรกรรมชั้นเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่นักวิชาการได้ศึกษาเพิ่มเติมในเวลาต่อมาพบว่าบางส่วนน่าจะได้รับการเขียนซ่อมแซมเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 3 หรือภายหลังจากนั้น

รูปแบบที่ยังคงเป็นจิตรกรรมไทยประเพณีได้แก่การนำเสนอเรื่องราวในพุทธประวัติ รวมทั้งฉากเทพชุมนุมที่อยู่เหนือช่องหน้าต่าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะประกอบอยู่ในฉากเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ แต่ภาพเทพชุมนุมที่นี่หมายถึงเทพเทวดาพากันมากราบนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งแทนด้วยภาพพระเจดีย์อยู่ที่ผนังด้านหลังพระพุทธสิหิงค์ โดยมีภาพพระอินทร์กายสีเขียวอยู่ใกล้กัน ส่วนผนังด้านตะวันออกซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระพุทธสิหิงค์เขียนภาพพระพรหมมานมัสการพระทุสสะเจดีย์ ณ สวรค์ชั้นดุสิต
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ปฐมสมโพธิกถา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-30
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

นริศนานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา; สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม1.กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2505.

สันติ เล็กสุขุม. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3: ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548.

อลงกรณ์ เทียมจันทร์. จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2557.