ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

จิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐาน

คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง, วัดโสมนัส, วัดโสมนัสวิหาร, รัชกาลที่ 4, จริยวัตรสงฆ์

ชื่อหลักวัดโสมนัสวิหาร
ชื่ออื่นวัดโสมนัส
ประเภทงานศิลปะจิตรกรรม
ตำบลวัดโสมนัส
อำเภอเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.760268
Long : 100.510206
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 663273.09
N : 1521725.61
ตำแหน่งงานศิลปะผนังระหว่างหน้าต่างภายในพระอุโบสถ

ประวัติการสร้าง

พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ระบุว่าเป็นวัดที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ เพื่ออุทิศพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระมเหสีที่สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2395 โดยพระอุโบสถสร้างสำเร็จประมาณ พ.ศ. 2400 แม้ไม่มีหลักฐานระบุระยะเวลาในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะใกล้เคียงกับปีที่พระอุโบสถสร้างเสร็จซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 4

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ภาพเขียนสีฝุ่น

ลักษณะทางศิลปกรรม

จิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐานภายในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหารฯ เป็นภาพภิกษุพิจารณาซากศพประเภทต่างๆจำนวน 10 ประเภท โดยแต่ละประเภทเหมาะสมกับผู้มีจริตนิสัยแตกต่างกันไป แต่ละห้องภาพมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกันคือมีภาพพระสงฆ์ 1 รูป พิจารณาซากศพ 1 ประเภท โดยอยู่ในตอนล่างของภาพซึ่งแสดงถึงระยะที่อยู่ใกล้ผู้ชม เบื้องหลังในตำแหน่งที่สูงขึ้นแสดงระยะที่อยู่ไกลออกไปเป็นภาพทิวทัศน์ ประกอบด้วยทิวเขา ป่าไม้ มีเส้นขอบฟ้าเพื่อกำหนดระยะของวัตถุอื่นๆ ในภาพที่อยู่ไกลออกไปและแสดงบรรยากาศของเวลาที่น่าจะเป็นยามเย็นหรือใกล้ค่ำ ภาพอสุภกรรมฐานทั้ง 10 ประเภท ได้แก่

1.อุทธุมาตกอสุภ (ศพขึ้นอืด)

2. วินีลกอสุภ (ศพสีคล้ำ)

3.วิปุพพกอสุภ (ศพที่มีน้ำเหลือง)

4.วิจฉิททกอสุภ (ศพที่ถูกตัดเป็นท่อน)

5.วิกขายิตกอสุภ (ศพที่มีสัตว์ทั้งหลายกัดกินโดยอาการต่างๆ)

6.วิกขิตตกอสุภ (ศพกระจุยกระจาย)

7.หตวิกขิตตกอสุภ (ศพถูกฟัน)

8.โลหิตกอสุภ (ศพที่มีเลือดไหล)

9.ปุฬุวกอสุภ (ศพมีหนอน)

10.อัฏฐิกอสุภ (ศพที่เป็นร่างกระดูก)
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ภายในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหารเขียนภาพวัตรปฏิบัตรของพระสงฆ์ เรื่องหนึ่งที่เป็นฉากใหญ่บนผนังระหว่างช่องหน้าต่างซึ่งอยู่ในระดับสายตาของผู้ชม คือภาพการปลงอสุภกรรมฐาน หรือการพิจารณาซากศพที่มีทั้งหมด 10 ประเภท ที่น่าสนใจคือ ภาพพระสงฆ์บางภาพสันนิษฐานว่าเป็นภาพเหมือนของพระสงฆ์สำคัญบางรูปในสมัยนั้นด้วย รวมทั้งภาพศพแต่ละประเภทยังแสดงถึงความพยายามถ่ายทอดความสมจริงตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์มาสู่ภาพร่างกายมนุษย์ที่เริ่มแสดงลักษณะทางกายวิภาค ซึ่งแทบจะไม่พบมาก่อนหน้านี้ในงานจิตรกรรมไทย พื้นที่สำคัญบริเวณนี้มักปรากฏภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติหรือทศชาดกซึ่งเป็นระเบียบที่พบในงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีที่นิยมในอดีต แต่เมื่อเกิดแนวคิดใหม่เมื่อครั้งปฏิรูปพระพุทธศาสนาที่เน้นการปฏิบัติตนในด้านต่างๆของพระสงฆ์ จึงทำให้เกิดการนำเสนอภาพการปลงอสุภกรรมฐานเป็นฉากใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากระเบียบแบบแผนเดิม รวมทั้งยังใช้เทคนิควิธีการเขียนภาพที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก การนำเสนอภาพที่สะท้อนแนวคิดและเทคนิควิธีอย่างใหม่เช่นนี้ สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นภายใต้พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอสุภกรรมฐานนิเทศในคัมภีร์วิสุทธิมรรค

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

จิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐานที่พระวิหารพระศรีศาสดา วัดบวรนิเวศวิหาร พระอุโบสถวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เป็นต้น

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-30
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “จิตรกรรมฝาผนัง : พระราชประสงค์รัชกาลที่ 4 เรื่องจริยวัตรสงฆ์” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะมหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552).