ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ

คำสำคัญ : ปรางค์, วัดราชบูรณะ

ชื่อหลักวัดราชบูรณะ
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลท่าวาสุกรี
อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.35881
Long : 100.56725
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 669001.32
N : 1587982.93
ตำแหน่งงานศิลปะแกนกลางของวัด

ประวัติการสร้าง

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ระบุว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เมื่อ พ.ศ. 1967 ในขณะที่พระราชพงศาวดารฉบับอื่น เช่น ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุศักราชการสร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 1961 และอธิบายขยายความว่าสถานที่สร้างวัดเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ผู้เป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ลักษณะทางศิลปกรรม

ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะตั้งอยู่บนฐานไพที หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก มีอิฐก่อเสริมเป็นบางช่วง ฉาบปูนและประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ภายในเรือนธาตุมีห้องคูหาหรือห้องครรภคฤหะ ด้านหน้าเป็นมุขต่อยื่นยาวออกมา สามารถเข้าไปภายในได้ ส่วนอีก 3 ด้านเป็นมุขสั้น ส่วนยอดหรือหลังคาเหนือเรือนธาตุทำซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยกลีบขนุน

รูปแบบโดยรวมมีความสูงเพรียวกว่าปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นที่สร้างขึ้นก่อนหน้า แต่เตี้ยกว่าปรางค์สมัยอยุธยาตอนปลาย

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะมีสภาพสมบูรณ์ และมีประวัติแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ทำให้เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญในการศึกษาปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นได้

2. รูปแบบของปรางค์และแผนผังของวัดแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับวัดอื่นๆที่สร้างสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งมีต้นแบบเริ่มต้นจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศทางศิลปกรรมสมัยนั้นที่ยังคงมีความผูกพันใกล้ชิดกับวัฒนธรรมแบบลพบุรี

3. เครื่องทองและสิ่งของต่างๆที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะสามารถนำมาศึกษาวิจัยเชิงลึกในเรื่องต่างๆ ได้อีกมาก


4. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง กล่าวถึงปรางค์วัดราชบูรณะองค์นี้ว่าเป็นหนึ่งในห้าของพระมหาธาตุที่เป็นหลักของกรุงศรีอยุธยา ความว่า “พระมหาธาตุที่เปนหลักกรุงศรีอยุธยา 5 องค์ คือ พระมหาธาตุวัดพระราม 1 พระมหาธาตุวัดมหาธาตุ 1 พระมหาธาตุวัดราชบูรณ 1 พระมหาธาตุวัดสมรโกฎ 1 พระมหาธาตุวัดพุทไธสวริย 1”

5. หนังสือภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาเอ่ยถึงปรางค์วัดราชบูรณะว่าเป็นหนึ่งในหลักของกรุงศรีอยุธยา ความว่า “((สะกดตามต้นฉบับ)... อนึ่งเปนหลักกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาราชธานีใหญ่นั้น คือพระมหาประสาทสามองค์กับพระมหาธาตุวัดพระราม 1 วัดหน้าพระธาตุ 1 วัดราชบุณะ1 แลพระมหาเจดียถานวัดสวนหลวงศภสวรรค์ 1 วัดขุนเมืองใจ 1 กับพระพุทธปะฏิมากรวัดพระศรีสรรเพชร์ 1 วัดมงคลบพิท 1 และนอกกรุงเทพฯ นั้น คือพระมหาเจดีย์ยถานวัดเจ้าพญาไทสูงสองส้นหกวา 1 วัดภูเขาทองสูงสองเส้นห้าวา 1 กับพระประธารวัดเจ้าพะอนงเชิงของพระเจ้าสามโปเตียนช่าง ผิดกรวมเงาดวงแก้วยอด พระเจดียวัดเจ้าพญาไทป่าแก้วตกตำบลที่นี้นอกกรุงเทพมหานครแล ฯ”

ข้อสังเกตอื่นๆ

จากข้อมูลในพระราชพงศาวดารที่ว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้สร้างวัดราชบูรณะบนพื้นที่ที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ทำให้เห็นถึงประเพณีสำคัญที่กษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาหลายพระองค์นิยมทำสืบกันมา คือ จะสร้างวัดบนสถานที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์หรือพระวงศ์

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะอยุธยา
อายุพุทธศตวรรษที่ 20 รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (พ.ศ. 1967-1981)
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนา
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

วัดอื่นๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เช่น วัดพุทไธสวรรย์ วัดมหาธาตุอยุธยา เพราะสังเกตเห็นความสัมพันธ์ของรูปแบบปรางค์และแผนผังวัดได้ชัดเจน

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-04-28
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.

ศิลปากร, กรม. พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2511.

ศิลปากร, กรม, ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.