ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปรางค์วัดพุทไธสวรรย์

คำสำคัญ : ปรางค์, วัดพุทไธสวรรย์

ชื่อหลักวัดพุทไธสวรรย์
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลสำเภาล่ม
อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.339829
Long : 100.558698
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 668093.07
N : 1585876.73
ตำแหน่งงานศิลปะแกนกลางของวัด

ประวัติการสร้าง

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ เช่น ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 1896 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง โปรดให้สร้างวัดพุทไธสวรรย์ขึ้นบนพื้นที่ที่เป็นตำหนักเวียงเหล็ก ความว่า “ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้นให้สถาปนาพระวิหารแลพระมหาธาตุเป็นพระอาราม ให้นามชื่อวัดพุทไธสวรรย์”

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ลักษณะทางศิลปกรรม

ปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์ตั้งอยู่บนฐานไพที หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางเหนือและใต้เคยมีมณฑปขนาบข้างอยู่

ปรางค์องค์นี้ก่อด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูนและประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ภายในเรือนธาตุมีห้องคูหาหรือห้องครรภคฤหะ ด้านหน้าเป็นมุขต่อยื่นยาวออกมา สามารถเข้าไปภายในได้ ส่วนอีก 3 ด้านเป็นมุขสั้น ส่วนยอดหรือหลังคาเหนือเรือนธาตุทำซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยกลีบขนุน ยอดสุดประดับด้วยนภศูลสำริด
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. วัดพุทไธสวรรย์เป็นวัดที่สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง เป็นวัดที่มีลายลักษณ์อักษรเอ่ยถึงประวัติการสร้างที่เก่าที่สุดในสมัยอยุธยา จึงถือเป็นตัวแทนสำหรับศึกษาศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้นได้เป็นอย่างดี

2. แผนผังของปรางค์ประธาน และแผนผังเขตพุทธาวาส น่าจะสะท้อนถึงการถ่ายทอดรูปแบบมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรีเพราะมีรูปแบบที่เหมือนกันมาก เช่น ปรางค์มีมุขทางเข้ายื่นยาวออกมาจากเรือนธาตุ การทำระเบียงคดล้อมรอบปรางค์ประธาน เป็นหลักฐานหนึ่งที่ช่วยย้ำให้เห็นความสำคัญของเมืองลพบุรีที่มีต่อคนกรุงศรีอยุธยา

3. รูปแบบปรางค์ประธานและแผนผังของวัดได้สืบทอดไปยังวัดที่สร้างขึ้นหลังกว่าอย่างเห็นได้ชัด เช่น วัดราชบูรณะ สังเกตจากการทำมุขทางเข้าสู่ครรภคฤหะ เหนือมุขเป็นเจดีย์ยอด องค์ปรางค์ตั้งบนฐานไพที มีระบียงคดล้อมรอบ ฯลฯ

4. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง กล่าวถึงปรางค์วัดราชบูรณะองค์นี้ว่าเป็นหนึ่งในห้าของพระมหาธาตุที่เป็นหลักของกรุงศรีอยุธยา ความว่า “พระมหาธาตุที่เปนหลักกรุงศรีอยุธยา 5 องค์ คือ พระมหาธาตุวัดพระราม 1 พระมหาธาตุวัดมหาธาตุ 1 พระมหาธาตุวัดราชบูรณ 1 พระมหาธาตุวัดสมรโกฎ 1 พระมหาธาตุวัดพุทไธสวริย 1”
ข้อสังเกตอื่นๆ

จากข้อมูลในพระราชพงศาวดารที่ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 โปรดให้สร้างวัดพุทไธสวรรย์บนพื้นที่ของตำหนักเวียงเหล็ก อันเป็นตำหนักเดิมของพระองค์ก่อนที่จะมาสร้างพระราชวังที่ริมหนองโสนนั้น ทำให้เห็นถึงประเพณีสำคัญที่กษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาหลายพระองค์นิยมทำสืบกันมา คือ เมื่อเสวยราชสมบัติจะพระราชทานที่ดินที่เป็นที่ตั้งของเรือนเดิมให้เป็นวัด

สมัย/รูปแบบศิลปะอยุธยา
อายุปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20 รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พ.ศ. 1893-1912)
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เพราะมีรูปแบบของปรางค์และแผนผังวัดคล้ายคลึงกัน เชื่อว่าวัดนี้น่าจะเป็นต้นแบบการสร้างให้กับวัดพุทไธสวรรย์

2. วัดอื่นๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เช่น วัดมหาธาตุอยุธยา วัดราชบูรณะ เพราะสังเกตเห็นความสัมพันธ์ของแผนผังวัดได้ชัดเ

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-04-24
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.

ศิลปากร, กรม. พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2511.

ศิลปากร, กรม, ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532.ลปากร, กรม, ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532.