ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ธรรมจักร

คำสำคัญ : ธรรมจักร, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระปฐมเจดีย์
อำเภอเมือง
จังหวัดนครปฐม
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศารุ้งแวง
Lat : 13.818427
Long : 100.060937
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 614666.73
N : 614666.73
ตำแหน่งงานศิลปะภายในห้องจัดแสดง

ประวัติการสร้าง

ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมทำให้กำหนดอายุได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี

กระบวนการสร้าง/ผลิต

สลักหิน

ขนาดสูง 70 เซนติเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

ธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง มีรูเจาะทะลุที่เหนือดุม ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่ไม่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรองค์นี้แลดูทึบ นอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายก้านขด เบื้องล่างสลักรูปบุคคลนั่งขัดสมาธิและถือดอกบัว สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระสุริยเทพ

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ธรรมจักรเป็นปูชนียวัตถุเด่นของวัฒนธรรมทวารวดี ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและการตั้งมั่นพุทธศาสนาในพื้นที่ต่างๆ ธรรมจักรองค์นี้ยังทำรูปบุคคลที่เชื่อว่าเป็นพระสุริยเทพประดับอยู่ด้านล่าง อาจเป็นร่องรอยแสดงการผสมผสานระหว่างคติดั้งเดิมของธรรมจักรที่มาจากดวงพระอาทิตย์

ข้อสังเกตอื่นๆ

ธรรมจักรค้นพบที่จังหวัดนครปฐม บางท่านสันนิษฐานว่ารูที่เจาะทะลุเหนือดุมไว้สำหรับเสียบเหล็กเพื่อยึดตรึงเข้ากับพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี ซึ่งมักมีรูเจาะทะลุเช่นกัน

ธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมคำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมจักรมีที่มาทางความคิดจากจักรรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ กล่าวคือ พระเจ้าจักรพรรดิมีจักรรัตนะหรือจักรแก้วเป็นสิ่งคู่บารมีให้พระองค์เผยแผ่พระราชอำนาจไปทั่วโลกและจักรวาล เมื่อพุทธศาสนิกชนต้องการแสดงให้เห็นว่าพระธรรมของพระพุทธองค์เผยแผ่ไปทั่วโลกและจักรวาลเช่นกันจึงหยิบยืมสัญลักษณ์รูปจักรมาใช้ แต่เรียกว่า ธรรมจักร หรือกงล้อแห่งธรรม

ทั้งนี้ดั้งเดิมเกี่ยวกับความคิดว่ากงล้อหรือจักรเป็นสัญลักษณ์ของการเผยแผ่พระราชอำนาจของพระเจ้าจักรพรรดินั้น อาจมีที่มาจากการเห็นพระอาทิตย์บนฟากฟ้าที่มีวงโคจรก้าวข้ามฟากฟ้าและจักรวาล เมื่อต้องการสร้างสัญลักษณ์สื่อว่าอำนาจของพระเจ้าจักรพรรดิแพร่ไปทั่วทุกสารทิศจึงหยิบยืมรูปวงกลมของดวงอาทิตย์มาใช้ แต่เปลี่ยนคำเรียกเป็นจักรรัตนะ

ด้วยเหตุที่รูปวงกลมของพระอาทิตย์เป็นจุดเริ่มต้นของจักรรัตนะ และจักรรัตนะเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมจักร รูปพระอาทิตย์ประดับที่ประดับส่วนล่างของธรรมจักรองค์นี้ย่อมสะท้อนให้ว่าชาวทวารวดีเข้าใจถึงที่มาดั้งเดิมของธรรมจักร

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะทวารวดี
อายุพุทธศตวรรษที่ 12-16
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-19
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ธนิต อยู่โพธิ์, ธรรมจักร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2508.

ผาสุข อินทราวุธ, ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, 2542.

พิริยะ ไกรฤกษ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.

สรัญญา สุริยรัตนกร และคณะ, พิพิธภํณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.