ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เครื่องถ้วยเบญจรงค์

คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, วังหน้า, เครื่องถ้วยเบญจรงค์, เครื่องถ้วยห้าสี

ชื่อเรียกอื่นเครื่องถ้วยห้าสี
ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.757703
Long : 100.491822
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661286.94
N : 1521428.89
ตำแหน่งงานศิลปะภายในพระตำหนักแดง

ประวัติการสร้าง

สั่งผลิตจากประเทศจีนในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

กระบวนการสร้าง/ผลิต

เครื่องปั้นดินเผาเขียนสี

ลักษณะทางศิลปกรรม

เครื่องถ้วยเบญจรงค์มีรูปแบบภาชนะที่แตกต่างกัน ได้แก่ ชามทรงกลีบบัว ถ้วยและโถมีฝาปิด จานเชิง ภาชนะทุกแบบมักมีเชิงหรือฐานรองรับที่ติดกับตัวภาชนะ นิยมเขียนลายเทพนม รูปสัตว์หิมพานต์ และสัตว์ผสมต่างๆ ด้วยสีสันแตกต่างกัน ได้แก่ สิงห์ นรสิงห์ กิเลน เป็นต้น โดยเขียนในกรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์พื้นสีแดง บริเวณที่เหลือเขียนลายพรรณพฤกษา โดยสีพื้นตัดกับสีสันต่างๆของลวดลาย

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เครื่องถ้วยเบญจรงค์หรือเครื่องถ้วยห้าสี เป็นเครื่องถ้วยที่นิยมใช้ในราชสำนักมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีรูปทรงหลายแบบแตกต่างกัน เช่น โถมีฝาปิด ชาม จานเชิง เป็นต้น ที่มาของคำว่าเบญจรงค์ เกิดจากการเขียนลวดลายต่างๆบนภาชนะด้วยสีหลัก 5 สี ได้แก่ สีแดง สีดำ สีขาว สีเขียว และสีเหลือง ทำให้เกิดภาชนะที่มีสีสันสดใส ลวดลายที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ ลายเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพนมนรสิงห์ ลายรูปสัตว์หิมพานต์ต่างๆ โดยมีลายพรรณพฤกษาเป็นพื้น รูปแบบภาชนะมักมีเชิงหรือส่วนฐานรองรับ หากมีฝาปิดมักเป็นฝาที่มียอดซ้อนชั้น มีที่เรียกว่าฝายอดปริก ด้วยความนิยมใช้เครื่องถ้วยเบญจรงค์ในราชสำนัก จึงทำให้เกิดการสั่งทำเครื่องถ้วยเบญจรงค์ โดยช่างไทยได้เขียนร่างแบบลวดลายแล้วส่งไปผลิตในประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยที่สำคัญ ดังนั้นจึงจะพบว่าลวดลายแบบไทยเช่นลายเทพนมอาจมีรูปแบบที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมบ้าง เนื่องจากความไม่คุ้นเคยของช่างจีน แต่อย่างไรก็ตาม ลวดลายบนเครื่องถ้วยเบญจรงค์ก็เป็นหลักฐานที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีนในช่วงสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 23-24
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องศิลปะในราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-11
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง.กรุงเทพฯ : คติ, 2554.

จิรา จงกล.เบญจรงค์ และลายน้ำทอง.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2520.