ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระพุทธรูปทรงเครื่อง
คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พระพุทธรูปทรงเครื่อง, พระพุทธรูปปางประทานอภัย
ชื่อเรียกอื่น | พระพุทธรูปปางประทานอภัย |
---|---|
ชื่อหลัก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.7576 Long : 100.492222 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661329.97 N : 1521418.09 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ประวัติการสร้าง | ปรากฏศักราชการสร้างที่ฐาน ระบุ พ.ศ. 2084 |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | หล่อสำริด |
ประวัติการอนุรักษ์ | ย้ายมาจากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม |
ขนาด | สูง 187 เซนติเมตร |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นหันฝ่าพระพระหัตถ์ออกทางด้านหน้า เรียกว่าแสดงปางประทานอภัย หรือปางห้ามสมุทร สวมมงกุฎที่มีแต่กระบังหน้า ไม่มีรัดเกล้ากรวย จึงเห็นพระอุษณีษะและพระรัศมีชัดเจน ทั้งยังไม่ปรากฏเครื่องทรงอื่นใดอีก จึงจัดว่าเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย พระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม บางแนบพระวรกาย แลเห็นรัดประคด (สายรัดเอว) และสบงที่ทำตรงกลางตกลงมาเป็นแถบหน้านาง พุทธลักษณะโดยรวมเป็นแบบอยุธยาตอนกลางที่สัมพันธ์กับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ศิลปะสุโขทัย เช่น พระพักตร์วงรูปไข่ พระขนงโค้งโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็กสมส่วน กระบังหน้ามีรูปแบบที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์กับเทวรูปในศิลปะสุโขทัยซึ่งมีต้นแบบดั้งเดิมมาจากกระบังหน้าในศิลปะลพบุรีอีกทอดหนึ่ง โดยกระบังหน้าประดับด้วยชั้นลวดลาย กึ่งกลางเป็นลายประจำยาม แนวขอบล่างของกระบังหน้าหยักแหลมลงตรงกลางล้อไปตามความโก่งโค้งของพระขนง และหยักแหลมบริเวณขมับ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้มีจารึกที่ฐานระบุศักราชการสร้างไว้ พ.ศ. 2084 จึงมี่ความสำคัญที่ทำให้ทราบว่าในระยะเวลาดังกล่าวคงมีความนิยมทำพระพุทธรูปสวมเครื่องทรงน้อยชิ้น หรือที่นิยมเรียกกันว่า พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย สุนทรียภาพโดยรวมสะท้อนให้เห็นถึงการสืบต่อจากพระพุทธรูปหมวดใหญ่และเทวรูปในศิลปะสุโขทัย ย่อมเป็นหลักฐานยินยันความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างอยุธยากับสุโขทัยได้เป็นอย่างดี |
ข้อสังเกตอื่นๆ | คติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องโยงกับเรื่องราวที่ปรากฏในชมพูบดีสูตร กล่าวถึงพระพุทธเจ้าแสดงพระองค์เป็นพระจักรพรรดิราชที่ยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาชมพูเพื่อคลายทิฏฐิมานะ จนท้าวมหาชมพูเลื่อมใสแล้วออกบวชปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ |
อายุ | พ.ศ.2084 |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนา |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-09-30 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2550. สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี และสมาคมโบราณคดีแห่งประเทศไทย, 2547. |