ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

หอนางอุสา

คำสำคัญ : หลักหิน, ใบเสมา, หอนางอุสา, ภูพระบาท

ชื่อหลักภูพระบาท
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ที่อยู่บ้านติ้ว
ตำบลเมืองพาน
อำเภอบ้านผือ
จังหวัดอุดรธานี
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.732129
Long : 102.352872
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 219324.79
N : 1962602.01
ตำแหน่งงานศิลปะใกล้กลุ่มเพิงหินถ้ำพระ-วัดพ่อตา

ประวัติการสร้าง

ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าหลักหิน-ใบเสมาที่ล้อมรอบควรปักในช่วงที่วัฒนธรรมปักหินที่นิยมเรียกว่าทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือแพร่หลายอยู่ หรือราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ในขณะที่ตัวโขดหินที่เรียกว่าหอนางอุสาอาจได้รับการบูชาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาก่อนหน้านั้นแล้ว และยังคงใช้งานสืบเนื่องต่อมาแม้สิ้นสมัยทวารวดีแล้วก็ตาม

ลักษณะทางศิลปกรรม

โขดหินรูปร่างประหลาดที่เรียกกันในปัจจุบันว่า หอนางอุสา มีลักษณะเป็นแท่งเสาหินธรรมชาติที่มีหินก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งวางทับอยู่ด้านบน กลายเป็นเพิงสำหรับพักอาศัยหรือประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ มีการกั้นผนังด้วยก้อนหิน ทำให้เพิงหินมีสภาพกลายเป็นห้อง

รูปลักษณ์ของหอนางอุสาเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ในอดีตกาลหลายล้านปีมาแล้วชั้นหินบริเวณนี้ยังอ่อนอยู่ทำให้เกิดการกัดเซาะหรือชะด้วยน้ำและลม ส่วนใดที่อ่อนตัวมากก็ถูกกัดเซาะหรือชะจนหายไป ส่วนใดที่แข็งแรงทนทานก็จะยังคงตัวอยู่ได้ จากรูปร่างของหอนางอุสาอธิบายได้ว่า แท่งเสาหินและก้อนหินที่ค้างอยู่ด้านบนเป็นชั้นหินที่แข็งแรงทนทานต่อการกัดเซาะ ชั้นหินที่เคยอยู่ตรงกลางระหว่างหินทั้งสองส่วนอ่อนตัวกว่าจึงง่ายต่อการกัดเซาะ ในที่สุดจึงถูกกัดเซาะหายไป ทำให้หินชั้นบนกลายเป็นก้อนหินใหญ่ที่วางตั้งอยู่ในหินชั้นล่างที่กลายสภาพเป็นแท่งเสา

รอบๆ หอนางอุสาเป็นลานหินขนาดใหญ่ มีหลักหิน-ใบเสมาปักบนลานหินเพื่อล้อมรอบหอนางอุสา
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

หอนางอุสารวมถึงโขดหินหรือเพิงหินหลายแห่งบนภูพระบาทมีหลักหิน-ใบเสมาปักล้อมรอบ สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างการนับถือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ ซึ่งอาจเทียบได้กับเจ้าที่ เจ้าป่า เจ้าเขา กับประเพณีการปักหินล้อมพื้นที่ในคติพุทธศาสนาแบบทวารวดีอีสาน เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงว่าหลักหิน-ใบเสมาทวารวดีอีสานมิได้ทำขึ้นเพื่อปักล้อมรอบอุโบสถเท่านั้น

โขดหินรูปร่างแปลกตาเช่นหอนางอุสาแห่งนี้พบได้มากบนภูพระบาท ผู้คนในสมัยก่อนคงไม่สามารถอธิบายถึงที่มาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ อาจเชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้เกิด หรือเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันให้คุณให้โทษได้ จึงเกิดการสักการบูชาโขดหินเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็อยู่ใน
ฐานะพิเศษ โดยมีหลักฐานว่าโขดหินเหล่านี้มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏอยู่ จากนั้นเมื่อเข้าสู่สมัยที่พุทธศาสนาแพร่หลายไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกกันว่าวัฒนธรรมทวารวดีอีสาน จึงเดการปักหินตั้ง-ใบเสมาล้อมรอบ สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะทวารวดี
อายุพุทธศตวรรษที่ 14-16
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนา, ความเชื่อท้องถิ่น
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานท่องถิ่นเรื่องอุสาบารสเล่าว่าโขดหินนี้เป็นที่อยู่ของนางอุสา จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า หอนางอุสา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-09-20
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

โบราณคดี, กอง. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี, 2537.

พิทักษ์ชัย จัตุชัย. “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร), 2553.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. รายงานการวิจัยเรื่องหลักหิน-ใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.