ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระบรมบรรพต

คำสำคัญ : ภูเขาทอง, วัดสระเกศ, วัดภูเขาทอง, เจดีย์ภูเขาทอง

ชื่อเรียกอื่นเจดีย์ภูเขาทอง
ชื่อหลักวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
ชื่ออื่นวัดภูเขาทอง
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลบ้านบาตร
อำเภอเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.7538702
Long : 100.506666
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 662894.54
N : 1521015.15
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยก่อเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้แก้ไขแบบให้เป็นเจดีย์ทรงระฆัง การก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5

ประวัติการอนุรักษ์

โครงสร้างเดิมของภูเขาทองได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมดเมื่อ พ.ศ.2493 โดยรื้อของเก่าลงเกือบทั้งหมดแล้วเปลี่ยนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กดังที่เห็นในปัจจุบัน เนื่องจากภูเขาทองเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นได้นำปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขึ้นไปติดตั้งและโจมตีฝ่ายตรงข้าม ทำให้ภูเขาทองได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ลักษณะทางศิลปกรรม

รูปแบบของบรมบรรพตหรือภูเขาทองที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆังสีทอง ตั้งอยู่บนเนินดินสูงก่อแนวกำแพงคอนกรีตล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้น 2 ทางไปสู่อาคารโถง ซึ่งมีบันไดขึ้นไปยังลานประทักษิณรอบองค์พระเจดีย์ที่อยู่ด้านบนสุด องค์เจดีย์เป็นทรงระฆังศิลปะรัตนโกสินทร์แบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะอยุธยาที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างพระเจดีย์ภูเขาทองไว้เป็นปูชนียสถานในพระนครเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยามีวัดภูเขาทอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายทุ่งมีองค์พระเจดีย์เป็นที่สำหรับชาวพระนครศรีอยุธยาลงไปประชุมเล่นเพลงเรือและสักวาในเทศกาลประจำปี โดยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงเลือกเอาบริเวณวัดสระเกศเป็นที่ก่อสร้างซึ่งเป็นวัดโบราณที่มีมาแต่เดิม การสร้างเริ่มโดยการถมพื้นที่โดยขุดฐานเอาไม้ซุงปูเป็นตาราง เอาศิลาแลงก่อขึ้นจนเสมอดินแล้วจึงก่อด้วยอิฐ และก่อโครงฐานพระเจดีย์ให้เป็นทรงปรางค์ขนาดใหญ่ แต่ก่อสร้างได้ไม่เท่าไรก็เกิดการทรุดตัวลง จึงยุติการก่อสร้างชั่วคราวจนสิ้นรัชกาลที่ 3

ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างใหม่ โดยรัชกาลที่ 4 ได้เสด็จฯไปทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อพ.ศ.2407 และพระราชทานนามว่า "บรมบรรพต" การก่อสร้างครั้งนี้ได้แปลงพระเจดีย์องค์เดิม ให้เป็นภูเขามีพระเจดีย์ทรงระฆังอยู่ด้านบน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอด มีบันไดเวียนขึ้นลง2สาย เพื่อสะดวกในเวลาเทศกาล

การก่อสร้างบรมบรรพตแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ในครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในองค์พระเจดีย์ที่สำคัญคือเมื่อ พ.ศ. 2422 รัฐบาลอินเดียได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดได้จากเนินพระเจดีย์เก่าที่เมืองกบิลพัสดุ์ บรรจุอยู่ภายในผอบที่มีจารึกอักษรพราหมี แปลความได้ว่า "พระบรมสารีริกธาตุนี้ เป็นของพระพุทธเจ้า(สมณโคดม)ตระกูลศากยราช ได้รับแบ่งปันในเวลาถวายพระเพลิงพุทธสรีระ" รัชกาลที่ 5 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นำมาบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์บรมบรรพต

งานสำคัญประจำปีในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงของทุกปี คือ "งานภูเขาทอง" ซึ่งมีประเพณีการห่มผ้าสีแดงที่องค์ระฆังของพระเจดีย์ภูเขาทอง
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-26
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ประวัติวัดสระเกศราชวรมหาวิหารและจดหมายเหตุเรื่องพระสารีริกธาตุเมืองกบิลพัสดุ์. พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2508.

สมบัติ พลายน้อย. “ภูเขาทองวัดสระเกศ” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่21 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2543), 96-97.