ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โลหะปราสาท
คำสำคัญ : วัดราชนัดดาราม, รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 3, พระที่นั่งมหาเจษฏาบดินทร์
ชื่อหลัก | วัดราชนัดดาราม วรวิหาร |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | สำราญราษฎร์ |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.754835 Long : 100.504257 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 662633.41 N : 1521120.25 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เขตพุทธาวาส ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ |
ประวัติการสร้าง | เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2394 แต่ก่อสร้างสำเร็จเป็นเพียงปราสาทโกลน ก็สิ้นสมัยรัชกาลที่ 3ในสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างโลหะปราสาท กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) เจ้าอาวาส ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาทจนสมบูรณ์ |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2506 ได้มีการบูรณะโลหะปราสาท โดยรื้อของเก่าที่ปรักหักพังออก ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กมาทดแทนของเดิมบันไดเปลี่ยนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีการทำประตูหน้าต่างติดกระจกใส โลหะปราสาทได้รับการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งใน พ.ศ. 2539 โดยเริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ พ.ศ. 2552 ได้บูรณปฏิสังขรณ์ส่วนยอดมณฑปกลางและปรับภูมิทัศน์โดยรอบ |
ลักษณะทางศิลปกรรม | โลหะปราสาทเป็นอาคารทรงปราสาทก่ออิฐถือปูนสูง 3 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับส่วนยอดด้วยโลหะ มีจำนวนทั้งสิ้น 37 ยอดภายในโลหะปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด เดิมมีแกนกลางหลักเป็นซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาท โดยเจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบน ต่อมาเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์จึงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | โลหะปราสาทหมายถึงอาคารทรงปราสาทที่มีส่วนยอดเป็นโลหะ ปรากฏความสำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวถึงนางวิสาขามหาอุบาสิกาผู้สร้างโลหะปราสาทหลังแรกมีชื่อว่า มิคารมาตุปราสาท เพื่อถวายเป็นที่อยู่ของสงฆ์ ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาได้เผยแผ่มายังศรีลังกาจึงเกิดการสร้างโลหะปราสาทหลังที่ 2 ขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเหลือเพียงโครงเสาของอาคารเท่านั้นสำหรับโลหะปราสาทที่วัดราชนัดดารามนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยพระราชดำริที่จะให้โลหะปราสาทเป็นเจดีย์ประจำวัดแทนการสร้างเจดีย์รูปแบบอื่น โดยสร้างไว้ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ โลหะปราสาทแห่งนี้นับเป็นองค์แรกและองค์เดียวในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโลหะปราสาทองค์ที่ 3 ของโลก ภายในโลหะปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อครั้งงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบก โลหะปราสาท เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-05-26 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ศักดิ์ชัย สายสิงห์. งานช่างสมัยพระนั่งเกล้า.กรุงเทพฯ : มติชน, 2551. ศิลปากร, กรม. โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์, 2538. ศิลปากร, กรม.ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532. |