ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมสิมวัดคีลี
สิมวัดคีลี ถือเป็นตัวอย่างสิมแบบเชียงขวางที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองหลวงพระบาง ในขณะที่สิมสกุลช่างเชียงขวางที่เมืองคูนเองกลับถูกทำลายจนหมดสิ้นจากภัยสงคราม ทำให้การศึกษาสิมในสกุลช่างเชียงขวางอาจศึกษาจากเมืองหลวงพระบางเท่านั้น ลักษณะของสิมสกุลช่างเชียงขวาง มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสิมแบบหลวงพระบางอย่างมาก ทั้งในแง่ของหน้าบันที่มีกรอบอ่อนโค้งและยาวลงมาเกือบจรดพื้น รวมถึงลักษณะหน้าบันที่เป็นกรอบไม้ต่างไหมและอย่างไรก็ตาม ประเด็นแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ในขณะที่หน้าบันของสิมสกุลช่างหลวงพระบางมักมีการแบ่งเป็น “ปีกนก” แต่สกุลช่างเชียงขวางกลับไม่แบ่งปีกนกแต่อย่างใด
สถาปัตยกรรมสิมวัดปากคาน
สิมวัดปากคาน ถือเป็นตัวอย่างของสิมแบบไทยลื้อที่ดีที่สุดในเมืองหลวงพระบาง ลักษณะของสิมแบบไทยลื้อก็คือ เป็นอาคารที่มีคอสองกว้าง และมีความสูงของหลังคาทางด้านหน้าและด้านยาวเท่ากัน สิมแบบไทยลื้อปรากฏความนิยมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยุนนานของจีน การปรากฏสิมแบบไทยลื้อที่เมืองพลวงพระบาง แสดงให้เห็นการอพยพเคลื่อนย้ายของคนไทยลื้อจากสิบสองปันนาลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองหลสวงพระบางแห่งนี้
สถาปัตยกรรมสิมวัดใหม่
สิมวัดใหม่ มีลักษณะของการซ้อนชั้นหลังคาที่โดดเด่น อาคารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกือบจะคล้ายกับสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาชั้นบนสุดซ้อนแบบ “ลอย” อยู่บนหลังคาหลัก ถัดลงมาเป็นหลังคาปีกนกที่ครอบคลุมพาไลต่อเนื่องลงมาหลายชั้น แต่ละชั้นมีคอสองสูง ด้านหน้ายังปรากฏ “หอขวาง” ซึ่งถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นสำหรับสิมแห่งนี้
สถาปัตยกรรมพระราชวังเมืองหลวงพระบาง
พระราชวังเมืองหลวงพระบาง เป็นอาคารแบบตะวันตกในผังแบบพัลลาเดียม มีหน้าบันและลายปูนปั้นแบบตะวันตก สร้างขึ้นภายใต้สมัยอาณานิคมฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม มีความพยายามในการสร้างยอดมหาปราสาทตามอิทธิพลรัตนโกสินทร์ซึ่งทำให้อาคารหลังนี้ดูคล้ายกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในกรุงเทพพอสมควร หน้าบันที่เป็นรูปช้างเอราวัณนั้น เป็นตราแผ่นดินในสมัยพระราชอาณาจักรลาว โดยรอบช้างปรากฏนาคด้านละ 7 ตัวซึ่งอาจเชื่อมโยงได้กับชื่อเดิมของอาณาจักรล้านช้างซึ่งเรียกว่า “ศรีสัตนาคนหุต” อันแปลว่านครแห่งนาค 7 ตัว
ประติมากรรมต้นไม้กระจกประดับสีด้านหลังสิมวัดเชียงทอง
การประดับกระจกบนผนัง ดูเหมือนว่าจะเป้นความนิยมในการตกแต่งผนัง “ภายนอกอาคาร” ในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบาทราวพุทธศตวรรษที่ 25 การตกแต่งแบบนี้ปรากฏกับอาคารหลายหลังที่วัดเชียงทอง อนึ่ง กระจกนอกจากให้ความแวววาวเมื่อต้องแสงแดดแล้ว ยังคงทนต่อสภาพอากาศกว่าการเขียนจิตรกรรมหรือลายคำอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เทคนิคดังกล่าวจึงมักใช้กับการตกแต่งภายนอกอาคาร
จิตรกรรมลายคำประดับผนังด้านนอกสิมวัดเชียงทอง
ในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบาทราวพุทธศตวรรษที่ 25 การตกแต่งลายคำได้รับความนิยมอย่างมาก โดยส่วนมากมักประดับภายในอาคาร อย่างไรก็ตาม ที่สิมวัดเชียงทองกลับปรากฏการประดับลายคำภายนอกอาคารซึ่งถือเป็นกรณีที่หายาก
ประติมากรรมเจดีย์จุฬามณี ลายคำประดับผนังด้านในสิมวัดเชียงทอง
ในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบาทราวพุทธศตวรรษที่ 25 การตกแต่งลายคำได้รับความนิยมอย่างมาก โดยส่วนมากมักประดับภายในอาคาร โดยผนังด้านหน้าวัดเชียงทอง มีการประดับภาพ “เหล่าเทวดากำลังบูชาพระเจดีย์จุฬามณี” อันงดงามมาก
จิตรกรรมทวารบาล ลายคำประดับผนังด้านในสิมวัดเชียงทอง
ในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบาทราวพุทธศตวรรษที่ 25 การตกแต่งลายคำได้รับความนิยมอย่างมาก โดยส่วนมากมักประดับภายในอาคาร โดยผนังด้านหน้าวัดเชียงทอง มีการประดับภาพ “เหล่าเทวดากำลังบูชาพระเจดีย์จุฬามณี” อันงดงามมาก บริเวณผนังที่ขนาบทางเข้ายังปรากฏภาพ “ทวารบาล” หรือเทวดาผู้รักษาประตูขนาดใหญ่ เทวดาเหล่านี้มักถือดอกโบตั๋นอันสื่อความหมายถึง “การบูชาพระพุทธเจ้า” ผู้ประทับภายในอาคารนั้น ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ในศิลปะจีนที่เข้ามามีบทบาททั้งในศิลปะล้านช้างและล้านนา