ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 9 ถึง 16 จาก 54 รายการ, 7 หน้า
ปราสาทบริวาร : ปราสาทบาแค็ง
อังกอร์
สถาปัตยกรรมปราสาทบริวาร : ปราสาทบาแค็ง

ปราสาทบาแค็งเป็นปราสาทบนฐานเป็นชั้น สร้างขึ้นบนภูเขาหินธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ปราสาทจึงสามารถสร้างด้วยหินทั้งหลังได้ แตกต่างไปจากปราสาทบากองที่ฐานเป็นชั้นสร้างอยู่บนพื้นราบ ปราสาทประกอบด้วยปราสาทบนยอดจำนวน 5 หลัง และปราสาทขนาดเล็กอีกจำนวน 60 หลังที่ฐานทั้งห้าชั้น ทุกหลักประดิษฐานศิวลึงค์ตามลัทธิไศวนิกายและหันหน้าไปทางทางทิศตะวันออกอันเป็นทิศมงคล เมื่อรวมปราสาทที่ด้านล่างแล้วนักวิชาการประมาณกันว่าปราสาทแห่งนี้มีจำนวนถึง 108 หลัง อันเป็นเลขมงคลในศาสนาฮินดู

ปราสาทแปรรูป
อังกอร์
สถาปัตยกรรมปราสาทแปรรูป

ปราสาทแปรรูป เป็นปราสาทบนฐานเป็นชั้นที่มีปราสาทยอดสร้างด้วยอิฐเช่นเดียวกับปราสาทอื่นๆในศิลปะสมัยพระนครตอนต้น อย่างไรก็ตาม พัฒนาการใหม่ที่สามารถสังเกตได้ก็คือ ปราสาทประธานได้เพิ่มจำนวนเป็นห้าหลังเป็นครั้งแรกและปราสาทเริ่มปรากฏ “อาคารยาวๆ” โดยรอบซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับระเบียงคดในระยะต่อมา อาคารยาวๆเหล่านี้คงใช้เป็นที่เก็บของหรือเป็นที่พัก ด้านหน้าปราสาทปรากฏแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งคงเป็นที่ประดิษฐานโคนนทิมาก่อน ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว

อาคารยาวที่ปราสาทแปรรูป
อังกอร์
สถาปัตยกรรมอาคารยาวที่ปราสาทแปรรูป

ปราสาทแปรรูป เป็นครั้งแรกที่เริ่มปรากฏ “อาคารยาวๆ” โดยรอบซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับระเบียงคดในระยะต่อมา อาคารยาวๆเหล่านี้คงใช้เป็นที่เก็บของหรือเป็นที่พัก อนึ่ง น่าสังเกตว่าอาคารยาวๆเหล่านี้ยังไม่ได้เชื่อมต่อกันจนกลายเป็นระเบียงคด การเชื่อต่อกันนั้นจะปรากฏเป็นครั้งแรกที่ปราสาทตาแก้ว

ปราสาทแม่บุญตะวันออก
อังกอร์
สถาปัตยกรรมปราสาทแม่บุญตะวันออก

ปราสาทแม่บุญตะวันออก มีเค้าโครงคล้ายคลึงกับปราสาทแปรรูปอย่างมาก คือมีปราสาทประธานจำนวน 5 หลังตั้งอยู่บนฐานเป็นชั้น อย่างไรก็ตาม ฐานเป็นชั้นของปราสาทแม่บุญตะวันออกเตี้ยกว่าปราสาทแปรรูปมาก เนื่องจากแท้จริงแล้ว ปราสาทแม่บุญตะวันออกเป็นปราสาท “บนพื้นราบ” ที่พระเจ้าราเชนทรวันทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษ โดยตั้งอยู่กลางบารายตะวันออกเช่นเดียวกับปราสาทโลเลยที่ตั้งอยู่กลางอินทรตฑาคะอันสร้างข้นโดยพระเจ้ายโศวรมัน

ฐานเป็นชั้นของปราสาทแม่บุญตะวันออก
อังกอร์
สถาปัตยกรรมฐานเป็นชั้นของปราสาทแม่บุญตะวันออก

ปราสาทแม่บุญตะวันออก ตั้งอยู่กลางบารายตะวันออกด้วยเหตุนี้ ฐานเป็นชั้นท่รองรับปราสาทก็คือ “ฐานของเกาะกลางบาราย” นั่นเองฐานนี้ก่อด้วยศิลาแลงซึงเป็นวัสดุที่แข็งเหมาะสำหรับการทำเป็นฐานรองรับปราสาทแต่ไม่เหมาะสำหรับการสลักลวดลาย ที่มุมของฐานมีประติมากรรมช้างอยู่ทั้งสี่ทิศ ฐานเป็นชั้นของปราสาทแม่บุญตะวันออกนี้ปัจจุบันตั้งอยู่บนพื้นดินที่แห้งขอด เนื่องจากบารายตะวันออกไม่ได้คงสภาพเป็นทะเลสาบอีกต่อไปแล้ว

โคปุระของปราสาทบันทายสรี
อังกอร์
สถาปัตยกรรมโคปุระของปราสาทบันทายสรี

โคปุระของปราสาทบันทายสรี ประกอบด้วยหน้าจั่วสามเหลี่ยมซึ่งเลียนแบบมาจากอาคารเครื่องไม้ ที่น่าสนใจก็คือ ที่ปลายหน้าจั่วมีลายตกแต่งเป้รูปขมวดม้วน ซึ่งอาจกลายมาจากงวงของมกรก็ได้ หน้าจั่วเช่นนี้ปรากกฎมาก่อนกับปราสาทในศิลปะเกาะแกร์ และจะปรากฏอีกกับปราสาทในศิลปะบาปวนบางหลัง เช่นปราสาทพระวิหาร

มณฑปของปราสาทบันทายสรี
อังกอร์
สถาปัตยกรรมมณฑปของปราสาทบันทายสรี

ปราสาทบันทายสรีเป็นปราสาทบนพื้นราบที่เน้นแนวแกนกลาง ด้วยเหตุนี้ปราสาทประธานจึงปรากฏมณฑปในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งตรงตามแนวแกนตะวันออก มณฑปนั้นเป็นห้องสำหรับรอกระทำพิธีกรรมและเป็นห้องสำหรับผู้ศรัทธาที่ไม่สามารถเข้าไปภายในครรภคฤหะได้ หน้าบันด้านหน้าของปราสาทบันทายสรี เป็นภาพของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึงถือเป็นเทพประจำทิศตะวันออกที่มักปรากฏเสมอแม้ว่าปราสาทหลังนั้นจะไม่ได้อุทิศให้กับพระอินทร์ก็ตาม

ปราสาทประธาน : ปราสาทบันทายสรี
อังกอร์
ประติมากรรมปราสาทประธาน : ปราสาทบันทายสรี

ปราสาทบันทายสรีเป็นปราสาทบนพื้นราบที่เรียงกันสามหลัง หลังกลางอุทิศให้กับพระศิวะ ส่วนหลังข้างนั้น แม้ว่าจะไม่ปรากฏจารึกว่าสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้ใคร แต่อาจเป็นไปได้ว่าอุทิศหับพระเทวีสององค์ของพระศิวะ คือพระอุมากับพระคงคา เนื่องจากทวารบาลของปราสาททั้งสองหลังล้วนแต่เป็นนางอัปสรทั้งสิ้นปราสาททั้งสามหลังมีลักษณะตามแบบศิลปะพระนครตอนปลายโดยทั่วไปท่สร้างด้วยหิน อย่างไรก็ตามปราสาทยังคงเว้นประตูสามด้านไว้เป็นประตูหลอก ด้านบนของชั้นวิมานยังคงประดับด้วยปราสาทจำลองซึ่งแตกต่างไปจากปราสาทในศิลปะนครวัดที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นกลีบขนุน