ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมลายหน้ากาลคายพวงมาลัย-พวงอุบะ
ที่ด้านบนของเรือนธาตุเจตียวิหารในศิลปะพุกาม ย่อมประดับด้วยลายหน้ากาลคายพวงมาลัย-พวงอุบะเสมอ ลวดลายดังกล่าวปรากฏมาก่อนในศิลปะปาละก่อนที่จะได้รับความนิยมอย่างมากในศิลปะพุกาม ลวดลายดังกล่าวยังแสดงให้เห็นความปรารถนาที่จะให้เรือนธาตุได้รับการตกแต่งด้วยดอกไม้สดเสมอ
ประติมากรรมลายกาบล่างประดับหน้ากาล
ที่ด้านล่างของเสาติดผนังที่ประดับเรือนธาตุเจตียวิหารในศิลปะพุกามตอนปลาย ย่อมประดับลาย “กาบล่าง” เสมอ อันเป็นส่วนหนึ่งของลายประดับเสาติดผนังจำนวนสามจุด คือ “กาบบน-ประจำยามอก-กาบล่าง” โดยลายทั้งหมดอยู่ในกรอบรูปสามเหลี่ยมและมีลายพันธุ์พฤกษาหรือลายกนกบรรจุอยู่เต็ม บางครั้งก็มีลายหน้ากาลคายพันธุ์พฤกษาด้วย
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงเครื่องที่อานันทเจดีย์
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นตัวอย่างของพระพุทะรูปทรงเครื่องที่ดีที่สุดในศิลปะพุกาม แสดงการทรงเทริดขนนกตามแบบอิทธิพลปาละ เทริดประแอบด้วยตาบสามเหลี่ยมจำนวนมากเรียงกัน มีกระบังหน้าที่ประดับด้วยตาบสามเหลี่ยมสามจุด มีกรรเจียกและสร้อยคอโดยทรงทับลงไปบนจีวร จึวรที่ปรากฏจีวรสั้นบนพระอังสาซ้ายเองก็แสดงอิทธิพลปาละ
ประติมากรรมพระพุทธรูปสมัยมัณฑเลที่อานันทเจดีย์
พระพุทธรูปประทับยืนสมัยมัณฑเล มีลักษณะสำคัญคือพระพักตร์มีกระบังหน้า ห่มคลุมเสมอตามแบบพุกาม แต่จีวรเป็นริ้วธรรมชาติทั้งหมดตามอิทธิพลจีน บางครั้งการประดับลวดลายและกระจกลงไปบนจีวรด้วย พระหัตถ์ทั้งสองแสดงปางประทานพรและจับชายจีวรลง และบางครั้งมีการถือผลสมอในพระหัตถ์ขวาด้วยซึ่งไม่ปรากฏมาก่อนในศิลปะพุกาม
ประติมากรรมพระพุทธรูปสมัยมัณฑเลที่เจดีย์ชเวซิกอง
พระพุทธรูปประทับยืนสมัยมัณฑเล มีลักษณะสำคัญคือพระพักตร์มีกระบังหน้า ห่มคลุมเสมอตามแบบพุกาม แต่จีวรเป็นริ้วธรรมชาติทั้งหมดตามอิทธิพลจีน บางครั้งการประดับลวดลายและกระจกลงไปบนจีวรด้วย พระหัตถ์ทั้งสองแสดงปางประทานพรและจับชายจีวรลง และบางครั้งมีการถือผลสมอในพระหัตถ์ขวาด้วยซึ่งไม่ปรากฏมาก่อนในศิลปะพุกาม
ประติมากรรมตุ๊กตาไม้รูปเทวทูตสี่
ในศิลปะมัณฑเล วัดแต่ละแห่งมักประดับด้วยตุ๊กตาไม้ซึ่งเล่าเรื่องพุทธประวัติหรือชาดก เช่น พุทธประวัติตอนเทวทูตสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตายและสมณะ โดยประติมากรรมทั้งสี่นี้มักจะสลักเป็นชุด ประติมากรรมมักเน้นความสมจริง เช่น คนมักเน้นความเหี่ยวย่นของร่างกาย ส่วนคนตายก็จำลองภาพของศพนอนอืด การสลักได้เหมือนจริงนี้ถือว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของประติมากรรมพม่า และยังอาจแสงอิทธิพลตะวันตกด้วย
ประติมากรรมสรัสวดีในรูปของนัต
เทวีสรัสวดี เทพีแห่งความรู้ในศาสนาฮินดู ได้กลายเป็นเทพีผู้ปกป้องความรู้ทางพุทธศาสนาเถรวาทในพม่า แสดงให้เห็นกระบวนการดูดกลืนศาสนาฮินดูเข้าสู่ศาสนาพุทธซึ่งเป้นกระบวนการปกติในแถบเอเชียอาคเนย์
จิตรกรรมพระโพธิสัตว์ จิตรกรรมในเจดีย์อโลปเย
พระโพธิสัตว์เหล่านี้แต่งตัวคล้ายคลึงกับศิลปะปาละอย่างมาก เช่น การทรงมงกุฎที่มีกระบังหน้าสามตาบ การทรงยัชโญปวีตตวัดเป็นรูปตัว S และการนุ่งผ้านุ่งเป็นริ้ว รวมถึงการปรากฏดอกไม้สองดอกขนาบทั้งสองข้างอย่างสมมาตรย่อมแสดงให้เห็นอิทธิพลปาละตอนปลายอย่างมาก จิตรกรรมเองก็ใช้สีโทนร้อนตามอย่างปาละ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าจิตรกรรมดังกล่าวคงมีอายุอยู่ในสมัยพุกามตอนต้น