ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมวิหารวัดองค์ตื้อ
เป็นอาคารในสกุลช่างเวียงจันทน์ที่หลังคาด้านข้างไม่ได้เตี้ยติดพื้นมาก และมีการแบ่งกรอบหน้าบันออกเป็นปีกนก หน้าบันแสดงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายพันธุ์พฤกษา ด้านล่างหน้าบันมีการแบ่งช่องในแผงแรคอสองอันเป็นลักษณะโดดเด่นของหน้าบันในสกุลช่างเวียงจันทน์ และด้านล่างสุดมีโก่งคิ้วซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมที่ปรากฏร่วมกันทั้งในล้านนาและลาว ด้านหน้ามีโถงทางเข้าก่อนที่จะเข้าไปภายในห้องประธาน ปรากฏหัวเม็ดทรงมัณฑ์ในทรงยืดสูงอันเป็นลักษณะที่โดดเด่นในศิลปะลาว
ประติมากรรมบานประตูของสิมวัดองค์ตื้อ
ในรัชกาลสมเด็จเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ได้เกิดสกุลช่างไม้สลักขึ้นในหลวงพระบาง โดยสกุลช่างดังกล่าวนิยมสลักภาพเทวดาทับลงไปบนลายพันธุ์พฤกษาที่เป็นก้านขดอกดอกโบตั๋น ตัวอย่างของภาพสลักในสกุลช่างนี้ยังสามารถเห็นได้อีกที่ประตูของสิมวัดวิชุลเมืองหลวงพระบาง
ประติมากรรมพระเจ้าองค์ตื้อ
พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปในศิลปะล้านช้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาโดยทั่วไป คือ มีพระพักตร์รูปไข่และรัศมีเป็นเปลวตามอิทธิพลของสุโขทัยและล้านนา ห่มเฉียงตามแบบที่นิยมในพระนั่ง แสดงปางมารวิชัยซึ่งนิยมกับพระพุทธรูปนั่งเช่นกัน ด้านล่างปรากฏ “กลีบบัวรวน” ซึ่งเป็นความนิยมในศิลปะล้านช้าง ต้องไม่ลืมพระรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาเป็นรัชกาลที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับล้านนาและอยุธยาอย่างมาก ด้วยเหตุนี้พระพุทธรูปองค์นี้จึงสะท้อนอิทธิพลทางศิลปกรรมจากดินแดนดังกล่าวด้วย