ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมประตูเมืองนครธมทางด้านทิศใต้
ประตูเมืองพระนครหลวง ประกอบไปด้วยสองส่วน คือประตูเมืองซึ่งออกแบบเป็นพระพักตร์ของบุคคลจำนวน 4 พักตร์ และราวสะพานด้านหน้าข้ามคูเมืองซึ่งมีราวสะพานเป็นรูปการกวนเกษียรสมุทร ซุ้มประตูซึ่งมีพระพักตร์ทั้งสี่นี้บางท่านสันนิษฐานว่าอาจหมายถึง “จตุโลกบาลทั้งสี่” ผู้ดูแลทั้งสี่ทิศของจักรวาลก็ได้ ราวบันไดรูปการกวนเกษียรสมุทรนั้น ย่อมแสดงให้เห็นคติที่ว่าบุคคลผ้อยู่ในเมืองดังกล่าวได้รับการปะพรมน้ำอมฤตเสมอและเป็นผู้เป็นอมตะประหนึ่งเทวดา
ประติมากรรมทวารบาล
ทวารบาล สลักจากหินทราย มีใบหน้าดุร้ายคล้ายยักษ์ ทรงกระบังหน้า ตุ้มหูเป็นรูปวงกลมขนาดใหญ่ ประดับด้วยกรองศอ พาหุรัด กำไล และอุทรพันธะซ้อนกัน 2 เส้น นุ่งผ้านุ่งเรียบ ที่ด้านข้างมีชายผ้าเป็นรูปวงโค้งตกลงมา ส่วนด้านหน้ามีชายผ้าตกลงมาเหนือเข่า ตกแต่งด้วยเข็มขัดซ้อนกัน 2 เส้น เส้นล่างมีพู่ห้อย ทวารบาลอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว ปลายกรอบเป็นรูปหัวมกรขนาดใหญ่หันหัวออก เหนือขึ้นไปเป็นชั้นหลังคาทรงปราสาท
ประติมากรรมทวารบาล
ทวารบาล สลักจากหินทราย ส่วนเศียรชำรุดเสียหายไปมากแล้ว แต่ก็พอสังเกตุเค้าโครงได้ว่าน่าจะสวมกระบังหน้า มีรัดเกล้าเป็นทรงกรวยแหลม ประดับด้วยตุ้มหู กรองศอ พาหุรัด กำไล ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้านุ่งยาว แบบมีริ้วทั้งผืน ขอบผ้านุ่งด้านบนมีชายผ้าเป็นรูปสามเหลี่ยมและวงโค้งห้อยตกลงมา ตกแต่งด้วยเข็มขัด 2 เส้น ที่เส้นล่างมีพู่ห้อย ทวารบาลอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว ปลายกรอบเป็นรูปหัวมกรขนาดใหญ่หันหัวออก เหนือขึ้นไปเป็นชั้นหลังคาทรงปราสาท