ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมเจดีย์จอกตอจี
เจดีย์จอกตอจีถือเป็นเจดีย์จำลองอานันทเจดีย์ที่งดงามที่สุดในศิลปะอมรปุระ เจดีย์มียอดศิขระซ้อนด้วยยอดเจดีย์เช่นเดียวกับศิลปะพุกาม นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการแบ่งเก็จตามแบบศิขระพุกามอีกด้วย ที่ด้านทั้งสี่ปรากฏมุขยื่นออกมาสี่ทิศและลวดลายหน้าบันที่ประดับด้วยมกรและเคล็กตั้งตรงตามแบบพุกาม อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการตกแต่งอื่นๆ กลับแตกต่างไปจากศิลปะพุกามพอสมควร อนี่ง ศิลปะอมรปุระ-มัณฑเล มีความพยายามในการเลียนแบบศิลปะพุกามอย่างมาก ดังปรากฏในหลายตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่าสถาปนิกชาวพม่าในสมัยหลังยกย่องศิลปะพุกามว่าเป็นจุดสูงสุดของศิลปะพม่า
ประติมากรรมภาพวาดจำลองเจดีย์จอกตอจี
ในศิลปะอมรปุระ-มัณฑเล หรือสมัยคองบองตอนปลาย ปรากฏแนวความคิดเรื่องสัจนิยมมากขึ้นเนื่องด้วยอิทธิพลตะวันตก ด้วยเหตุนี้ จิตรกรรมการเขียนจำลองภาพเจดีย์จอกตอจีเองจึงถูกเขียนขึ้นเพื่อบ่งบอกว่าเป็นภาพเมืองอมรปุระเอง นอกจากนี้การเขียนแสงเงาอย่างสมจริง รวมถึงทิวทัศน์ด้านหลังที่มีระยะใกล้-ไกลตามหลักทัศนียวิทยา ก็แสดงการเปลี่ยนแปลงในด้านความคิดของจิตรกรในระยะนี้เช่นกัน
จิตรกรรมพระพุทธบาทบนเพดาน
ลักษณะทางศิลปกรรมดูเหมือนว่าจิตรกรที่เจดีย์จอกตอจีมีความคิดที่ก้าวหน้าในการเขียนภาพจักรวาลวิทยาตามแบบสมัยใหม่ โดยการจัดดาวต่างๆเป็นหมู่ดาวตามแบบสมัยใหม่ มีการวาดภาพเพื่อให้สามารถจินตนาการได้ง่ายว่าหมู่ดาวต่างๆคือหมู่ดาวอะไร และมีการเขียนชื่อกำกับไว้ด้วย การวาดหมู่ด้าวไว้ที่เจดีย์จอกตอจี อาจเพื่อให้เจดีย์องค์นี้กลายเป็นศูนย์กลางจักรวาลอย่างแท้จริง
จิตรกรรมเทวดาด้านบนเพดาน
จิตรกรรมของจอกตอจีมีประเด็นอิทธิพลไทยอย่างชัดเจนในหลายเครื่อง โดยเฉพาะการเขียนภาพเทวดาแบบไทยและหน้ายักษ์ตามแบบไทยซึ่งแสดงการเขียนมงกุฎ กรรเจียกและพรายโอษฐ์ตามแบบหัวโขนไทยอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่จิตรกรรมดังกล่าวอาจวาดขึ้นโดยช่างผู้เป็นลูกหลานของชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
จิตรกรรมภาพบุคคลเหาะ
เนื่องด้วยอิทธิพลตะวันตก จิตรกรรมที่เจดีย์จอกตอจีจึงแสดงภาพเทวดา/ฤๅษีเหาะปะปนกับคิวปิด (cupid) ตามแบบตะวันตก ดอกไม้และลวดลายพันธุ์พฤกษาเองก็ประกอบไปด้วยใบอะแคนธัสตามแบบตะวันตกเช่นกัน รวมถึงทัศนียวิทยาของภูเขาที่เป็นฉากหลังก็แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะตะวันตกอย่างมาก