ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทเจียงด่าน
จากลักษณะการวางผังปราสาทสามหลัง รวมถึงรูปแบบเสาติดผนัง ทำให้กำหนดอายุได้ว่าอยู่ในศิลปะบิญดิ่นตอนต้น
สถาปัตยกรรมภูเขาที่ตั้งของปราสาทบาญอิ๊ด
การสถาปนาปราสาทบนยอดเนินเขานั้น ถือเป็นความนิยมในสมัยบิญดิ่ญ ซึ่งปรากฏทั้งปราสาทบาญอิ๊ต ปราสาทเฝือกล็อก เป็นต้น ทั้งหมดนี้ นอกจากนี้ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมทำให้ทราบว่ามีอายุอยู่ในสมัยบิญดิ่นตอนต้น
สถาปัตยกรรมปราสาทบาญอิ๊ด
ปราสาทแห่งนี้ประกอบไปด้วยอาคาร 4 หลัง คือ ปราสาทประธาน บรรณาลับ หอจารึก (?) และโคปุระ ซึ่งกลุ่มอาคารดังกล่าวคล้ายคลึงกับการจัดกลุ่มอาคารของปราสาทมิเซินในศิลปะมิเซิน A1 อย่างไรก็ตาม ปราสาทแห่งนี้มีการจัดวางอาคารอย่างซับซ้อน เช่น ให้ปราสาทประธานและบรรณาลัยอยู่ด้านบนสุด ส่วนอาคารหอจารึกและโคปุระกลับอยู่ด้านล่างลงมา
สถาปัตยกรรมซุ้มของปราสาทบาญอิ๊ด
ปราสาทประธานประดับด้วยซุ้มทรงใบหอก มีการสลักลวดลายบนอิฐจนเต็ม ด้านบนสุดปรากฏหน้ากาล ซุ้มทรงใบหอกนี้แสดงรูปแบบซุ้มในศิลปะบิญดิ่นแล้ว อย่างไรก็ตราม การสลักลวดลายจนเต็มพื้นที่นั้นเป็นลักษณะพิเศษของซุ้มที่นี่ การปรากฏหน้ากาลด้านบนยังแสดงให้เห็นร่องรอยอิทธิพลชวาที่ส่งผ่านจากศิลปะมิเซิน A1 มาสู่ศิลปะบิญดิ่น
สถาปัตยกรรมบรรณาลัย (?) ปราสาทบาญอิ๊ด
ด้านข้างปราสาทประธานเป็นที่ตั้งของอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีหลังคาทรงประทุน อาคารดังกล่าวนี้ตรงกับ “บรรณาลัย” ในศิลปะขอม โดยลักษณะพิเศษของอาคารหลังนี้ก็คือ การสลักลวดลายตกแต่งทั้งฐาน เรือนธาตุและซุ้มหน้านาง อาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีหลังคาทรงประทุนในลักษณะเช่นนี้ ปรากฏทั้งในศิลปะมิเซิน A1 และบิญดิ่น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปราสาทประธานสามารถกำหนดอายุได้ในศิลปะบิญดิ่น ด้วยเหตุนี้อาคารหลังนี้จึงควรมีอายุเดียวกันกับปราสาทประธาน
สถาปัตยกรรมฐานของบรรณาลัยปราสาทบาญอิ๊ด
ด้านข้างปราสาทประธานเป็นที่ตั้งของอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีหลังคาทรงประทุน อาคารดังกล่าวนี้ตรงกับ “บรรณาลัย” ในศิลปะขอม โดยลักษณะพิเศษของอาคารหลังนี้ก็คือ การสลักลวดลายตกแต่งทั้งฐาน เรือนธาตุและซุ้มหน้านาง ฐานของปราสาทหลังนี้ปรากฏ “สัตว์แบก” จำนวนมาก เช่น ครุฑแบบ สิงห์แบก ซึ่งทำให้นึกถึงประติมากรรมครุฑจากปราสาทถาปมาม (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ดานัง) สัตว์แบกเหล่านี้เป้นรท่นิยมอย่างมากในศิลปะบิญดิ่น
สถาปัตยกรรมปราสาทบิญหลำ
เป็นปราสาทสมัยบิญดิ่นตอนต้นที่งดงามด้วยการตกแต่งซุ้มจระนำทรงปราสาท เรือนธาตุมีการตกแต่งด้วยเสาติดผนังจำนวน 5 ต้น มีร่องแต่ไม่มีลวดลายแล้ว ส่วนกลางของเรือนธาตุปราสาทปราสาทจำลองบดบังเสาต้อนที่ห้า ประดับไปด้วยซุ้มกาล-มกรแบบอิทธิพลชวาซึ่งยังตกทอดลงมาจนถึงระยะนี้ การที่เรือนธาตุมีการตกแต่งด้วยเสาติดผนังจำนวน 5 ต้น มีร่องแต่ไม่มีลวดลาย โดยที่ร่องไม่ได้ทะลุเลยบัวหัวเสาอีกต่อไปนั้น ถือเป็นลักษณะของศิลปะบิญดิ่นตอนต้น ประเด็นนี้ตอบรับกับซุ้มกาล-มกรแบบอิทธิพลชวาซึ่งแพร่หลายมาตั้งแต่ศิลปะมิเซิน A1 และยังปรากฏตกทอดอยู่มาจนถึงศิลปะบิญดิ่นตอนต้น
สถาปัตยกรรมซุ้มทรงปราสาทของปราสาทบิญหลำ
เป็นปราสาทสมัยบิญดิ่นตอนต้นที่งดงามด้วยการตกแต่งซุ้มจระนำทรงปราสาท ปราสาทจำลอง ประดับไปด้วยซุ้มกาล-มกรแบบอิทธิพลชวาซึ่งยังตกทอดลงมาจนถึงระยะนี้ชั้นซ้อนของปราสาทจำลอง ปรากฏชั้นซ้อนจำลนวนสี่ชั้น แต่ละชั้นประดับไปด้วยซุ้มจระนำและอาคารจำลองอย่างงดงาม โดยซุ้มทั้งหมดทับอยู่บนกรอบรูปใบหอกอีกทีหนึ่ง เนื่องด้วยซุ้มปราสาทดังกล่าวปรากฏ “ซุ้มกาล-มกร” แบบอิทธิพลชวาซึ่งแพร่หลายมาตั้งแต่ศิลปะมิเซิน A1 และยังปรากฏตกทอดอยู่มาจนถึงศิลปะบิญดิ่นตอนต้น ดังนั้นเมื่อศึกษาร่มกับเสาติดผนังทำให้ทราบว่าปราสาทแห่งนี้อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างมิเซิน A1 กับบิญดิ่นตอนต้น