ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 17 ถึง 24 จาก 57 รายการ, 8 หน้า
เจดีย์ชเวกูจี
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์ชเวกูจี

เจดีย์ชเวกูจี ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปะพุกามตอนต้นที่นิยมความมืดทึบและศิลปะพุกามตอนปลายที่นิยมความสูงโปร่งและสว่าง โดยในระยะนี้ เจดีย์มีการเจาะประตูที่กึ่งกลางด้านของเรือนธาตุ และยังเจาะหน้าต่างโดยไม่มีแผงมากั้นแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้ภายในสว่างกว่าเจดีย์ในรัชกาลพระจันสิตถา ยิ่งกว่านั้น ชั้นหลังคาก็มิได้อยู่ในรูปของหลังคาลาดอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นชั้นหลังคาบานบัวซ้อนกันหลายชั้นในรูปของปีระมิดขั้นบันได ซึ่งแสดงแนวโน้มไปสู่รูปแบบชั้นหลังคาในศิลปะพุกามตอนปลายอย่างชัดเจน

เจดีย์ธรรมยังจี
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์ธรรมยังจี

เจดีย์ธรรมยังจี เป็นเจดีย์ที่พยายามจำลองแบบอานันทเจดีย์อย่างชัดเจน คือ มีการสร้างเจดีย์ในผังกากบาท ด้านบนมีหลังคาลาดรองรับศิขระ ภายในมีทางประทักษิณและมีมณฑปสี่ทิศ อย่างไรก็ตาม ทางประทักษิณชั้นในสุดและครรภคฤหะสี่ทิศกลับถูกถมให้กลายเป็นแกนกลาง เปลี่ยนใจในภายหลังนี้อาจแสดงความไม่มั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างหรือความไม่แน่ใจของสถาปนิก

เจดีย์สูลามณี
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์สูลามณี

เป็นเจตีวิหารสองชั้นที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในศิลปะพุกาม โดยปรากฏกการซ้อนกันของเรือนธาตุชั้นล่างกับชั้นบน ชั้นล่างเป็นแกนกลางขนาดใหญ่รับน้ำหนักเจตียวิหารในผังแบบครรถคฤหะ-มณฑปด้านบน ส่วนยอดนั้นเป็นยอดศิขระเจตียวิหารสองชั้นนี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะพุกามตอนปลาย โดยปรากฏมาก่อนที่เจดีย์สัพพัญญูในรัชกาลพระเจ้าอลองสิทธุ และจะปรากฏต่อไปกับเจดีย์ติโลมินโลซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้านันตวงมยาด้วย

เจดีย์ฉปัฏ
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์ฉปัฏ

เจดีย์องค์นี้เป็นตัวอย่างของการผสมผสานกันระหว่างเจดีย์แบบพม่าแท้กับเจดีย์แบบลังกา โดยเจดีย์องค์นี้ยังมีลวดบัวฐานประกอบด้วยท้องไม้เจาะช่องตามแบบพม่าแท้อยู่ อย่างไรก็ตาม เจดีย์กลับอยู่ในผังกลม ไม่มีบันไดขึ้นด้านบนฐานและไม่มีทางประทักษิณด้านบนฐานตามแบบลังกา อัณฑะของเจดีย์เป็นทรงโอคว่ำและมีบัลลังก์สี่เหลี่ยมไม่เพิ่มมุมตามแบบลังกาเช่นกัน

เจดีย์ธรรมยาซิกา
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์ธรรมยาซิกา

เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังห้าเหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนสามชั้น แต่ละชั้นประดับภาพชาดกและมีทางประทักษิณพร้อมบันไดขึ้นทุกด้าน ที่มุมประดับด้วยสถูปิกะ องค์ระฆังประดับด้วยรัดอกและบัวคอเสื้อตามแบบเจดีย์พม่าโดยทั่วไป ไม่มีบัลลังก์ ถัดขึ้นไปได้แก่ปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลีสั้นซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์แบบพม่าในศิลปะพุกาม แม้ว่าทั้งหมดนี้จะเป็นลักษณะของเจดีย์แบบพม่าแท้โดยทั่วไป แต่ลักษณะที่โดดเด่นของเจดีย์องค์นี้ก็คือ การที่เจดีย์องค์นี้อยู่ในผังห้าเหลี่ยม ซึ่งแทนพระอดีตพุทธและอนาคตพุทธในภัทรกัป ด้านหน้าบันไดแต่ละด้านปรากฏกู่ประดิษฐานพระอดีตพุทธและอนาคตพุทธ เจดีย์ทรงระฆังห้าเหลี่ยมถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของเจดีย์องค์นี้ เนื่องจากไม่มีเจดีย์ทรงระฆังองค์อื่นใดอีกเลยในศิลปะพุกามที่สามารถสร้างเจดีย์ในแผนผังแบบพิเศษนี้

เจดีย์มหาโพธิ
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์มหาโพธิ

เนื่องจากเจดีย์องค์นี้เป็นการจำลองแบบเจดีย์มหาโพธิ์ที่พุทธคยา ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นอาคารสองห้องที่ห้องด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ส่วนห้องด้านหลังประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ เรือนธาตุอยู่ในรูปของฐานชคตีที่รองรับศิขระห้ายอดในผังปัญจายตนะ (ศิขระหลังกลางหนึ่งขนาบด้วยศิขระบริวารทั้งสี่ทิศ) ตามระเบียบแบบอินเดีย ศิขระที่นี่เป็นศิขระรูปสี่เหลี่ยมคางหมูและประกอบไปด้วยเรือนธาตุจำลองเช่นเดียวกับเจดีย์มหาโพธิ์ที่อินเดีย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการลอกเลียนแบบมากกว่ารูปแบบที่เป็นไปตามพัฒนาการปกติ

มิงคลาเจดีย์
พุกาม
สถาปัตยกรรมมิงคลาเจดีย์

เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนสามชั้น แต่ละชั้นประดับภาพชาดกและมีทางประทักษิณพร้อมบันไดขึ้นทุกด้าน ที่มุมประดับด้วยสถูปิกะ องค์ระฆังประดับด้วยรัดอกและบัวคอเสื้อตามแบบเจดีย์พม่าโดยทั่วไป ไม่มีบัลลังก์ ถัดขึ้นไปได้แก่ปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลีสั้นซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์แบบพม่าในศิลปะพุกาม เจดีย์แบบพม่าแท้องค์นี้ แสดงการเลียนแบบเจดีย์ชเวซิกองอย่างชัดเจน ทำให้มีรายละเอียดเกือบเหมือนเจดีย์ชเวซิกองต้นแบบอนึ่ง เจดีย์ชเวซิกองได้รับการเลียนแบบเสมอๆ ตลอดสมัยพุกามต่อเนื่องลงมาถึงสมัยหลัง

จิตรกรรมในเจดีย์อเพยทนะ
พุกาม
จิตรกรรมจิตรกรรมในเจดีย์อเพยทนะ

อิทธิพลของศิลปะปาละที่สังเกตได้ก็คือ การใช้สีโทนร้อนเป็นหลัก เช่น สีแดง สีเหลือง สีดำและสีขาว ส่วนสีโทนเย็น เช่น สีเขียวแทบไม่ปรากฏ ภายในทางประทักษิณภายในปรากฏซุ้มจระนำซึ่งเคยประดิษฐานพระพุทธรูปมาก่อน ซุ้มจระนำเหล่านี้ขนาบข้างโดยพระโพธิสัตว์ในลัทธิมหายาน โดยพระโพธิสัตว์เหล่านี้แต่งตัวคล้ายคลึงกับศิลปะปาละอย่างมาก เช่น การทรงมงกุฎที่มีกระบังหน้าสามตาบ การทรงยัชโญปวีตตวัดเป็นรูปตัว S และการนุ่งผ้านุ่งเป็นริ้ว