ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถาปัตยกรรมประตูเมืองนครธมทางด้านทิศใต้
ประตูเมืองพระนครหลวง ประกอบไปด้วยสองส่วน คือประตูเมืองซึ่งออกแบบเป็นพระพักตร์ของบุคคลจำนวน 4 พักตร์ และราวสะพานด้านหน้าข้ามคูเมืองซึ่งมีราวสะพานเป็นรูปการกวนเกษียรสมุทร ซุ้มประตูซึ่งมีพระพักตร์ทั้งสี่นี้บางท่านสันนิษฐานว่าอาจหมายถึง “จตุโลกบาลทั้งสี่” ผู้ดูแลทั้งสี่ทิศของจักรวาลก็ได้ ราวบันไดรูปการกวนเกษียรสมุทรนั้น ย่อมแสดงให้เห็นคติที่ว่าบุคคลผ้อยู่ในเมืองดังกล่าวได้รับการปะพรมน้ำอมฤตเสมอและเป็นผู้เป็นอมตะประหนึ่งเทวดา

สถาปัตยกรรมปราสาทบันทายกุฎี
ปราสาทบันทายกุฎี เป็นปราสาทในศิลปะบายน สร้างขึ้นโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นอาคารที่ประกอบไปด้วยยอดปราสาทจำนวนมาก เชื่อต่อกันด้วยระเบียงกากบาท ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของปราสาทในสมัยนี้ ปราสาทอยู่ในผังคล้ายตารางซึ่งแสดงให้เห็นว่าปราสาทถูกออแบบตาม “คติมณฑล” ในพุทธศาสนามหายาน

สถาปัตยกรรมบารายด้านหน้าปราสาทบันทายกุฎี
ท่าน้ำขั้นบันไดด้านหน้าปราสาทบันทายกุฎี สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อให้สระสรงกลายเป็นสระน้ำประจำปราสาทบันทายกุฎี ท่าน้ำแห่งนี้มีลักษระเป็นกากบาทตามแบบที่นิยมมาตั้งแต่ศิลปะสมัยนครวัด อย่างไรก็ตามครุฑยุดนาคที่ประดับตามราวบันไดนั้นถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะบายนอย่างแท้จริง

ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลัง เป็นชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่พบในศิลปะเขมร โดยจะติดตั้งอยู่บนกรอบประตูทางเข้าเสมอ ทับหลังในสมัยบันทายศรีจะมีลักษณะรับอิทธิพลมาจากศิลปะเกาะแกร์ มาผสมผสานกับศิลปะพระโค กล่าวคือการทำภาพเล่าเรืองอยู่กึ่งกลางทับหลังกดทับท่อนพวงมาลัยให้โค้งลงมาอยู่ด้านล่างของทับหลัง ท่อนพวงมาลัยมีการทำลายใบไม้ตั้งขึ้น และใบไม้ห้อยลงตามอีกทั้งยังปรากฏการทำพวงอุบะแทรกอยู่ในส่วนของใบไม้ห้อยลงตามแบบศิลปะพระโค ลักษณะเด่นของทับหลังในสมัยนี้ก็คือการประดับบริเวณเสี้ยว (เศษ 1 ส่วน 4) ของท่อนพวงมาลัยด้วยรูป “ใบหน้าสัตว์ขบท่อนพวงมาลัย” ซึ่งต่อไปจะเป็นต้นแบบของเสี้ยวพวงอุบะในศิลปะบาปวน

ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลัง เป็นชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่พบในศิลปะเขมร โดยจะติดตั้งอยู่บนกรอบประตูทางเข้าเสมอ ทับหลังในพระโคเริ่มปรากฏหน้ากาลตามอทธิพลชวา อย่างไรก็ตาม ลักษณะเด่นของทับหลังชิ้นนี้ก็คือการประดับบริเวณเสี้ยว (เศษ 1 ส่วน 4) ของท่อนพวงมาลัยด้วยรูป “ใบหน้าสัตว์ขบท่อนพวงมาลัย” ซึ่งต่อไปจะเป็นต้นแบบของเสี้ยวพวงอุบะในศิลปะบันทายสรีและบาปวน

ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลังในศิลปะบาปวน มีการทำท่อนพวงมาลัยที่สืบต่อมาจากสมัยก่อนหน้า ส่วนกลางท่อนพวงมาลัยกดลงไปอยู่ด้านล่าง ปรากฏหน้ากาลที่มีมือจับท่อนพวงมาลัยที่ ปลายทั้งสองข้างของท่อนพวงมาลัยม้วนออก เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ตั้งขึ้น ด้านล่างท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้ตกลง ระหว่างช่องใบไม้ตกลงเป็นรูปใบไม้สามเหลี่ยม แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการทำเสี้ยวของท่อนพวงมาลัย ที่แต่เดิมเป็นรูปสัตว์ขบมาเป็นพวงอุบะ ซึ่งแต่เดิมนักวิชาการชาฝรั่งเศสเชื่อว่าเป็นศิลปะคลัง แต่ต่อมาพบว่าทับหลังในลักษณะดังกล่าวนี้ สร้างขึ้นเดียวกันกับทับหลังแบบศิลปะบาปวน จึงจัดรูปแบบทับหลังที่มีรูปแบบดังกล่าวนี้อยู่ในศิลปะแบบบาปวนด้วย

ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลังในสมัยกุเลนจะมีลักษณะรับอิทธิพลมาจากศิลปะชวา กล่าวคือการทำหน้ากาลอยู่กึ่งกลางด้านบนของท่อนพวงมาลัย ปลายทั้งสองข้างทำเป็นมกรหันหน้าออก ตามแบบซุ้มกาล-มกรตามศิลปะชวาภาคกลาง ท่อนพวงมาลัยมีการทำลายใบไม้ตั้งขึ้น ห้อยลงตามแบบศิลปะกำพงพระ เหรียญทรงกลมจากศิลปะกำพงพระปรับเปรียบเป็นลายดอกไม้กลม ใต้ท่อนพวงมาลัยระหว่างช่องใบไม้ตกลงปรากฏการทำพวงอุบะแทรกอยู่

ประติมากรรมพระวิษณุ
พระวิษณุทรงสวมหมวกทรงกระบอกทรงสูงตามแบบศิลปะก่อนเมืองพระนคร ทรงมี 4 กร พระหัตถ์บนถือจักรและสังข์ พระหัตถ์ล่างทรงถือกระบองและธรณี ทรงนุ่งผ้าแบบสมพต โดยปรากฏชายผ้ารูปหางปลาปลายแตกเป็นเขี้ยวขาบสองชาย ซึ่งชายผ้าเขี้ยวตะขาบด้านล่างเป็นความสับสนของช่าง ซึ่งแท้จริงแล้วคือส่วนที่เป็นชายพกตลบกลับขึ้นไป