ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมทับหลัง สลักภาพเล่าเรื่องตอนกูรมาวตาร
ประติมากรรมชิ้นดังกล่าว น่าจะเป็นชิ้นส่วนของทับหลัง องค์ประกอบของภาพเป็นตอนอวตารของพระวิษณุแปลงเป็นเต่า เพื่อใช้รองรับภูเขาในการกวนเกษียรสมุทร ปรากฏรูปบุคคลสองฝั่งคือ อสูรและเทวดา ยืนเรียงแถวใช้มือจับลำตัวนาค เหนือขึ้นเป็นแถวหงส์ และเทวดานั่งชันเข่าพนมมืออยู่ ตรงกลางปรากฏภูเขาที่มีเต่ารองรับ ที่ตัวเสาปรากฏประติมากรรมพระวิษณุกอดภูเขา ด้านบนปรากฏพระพรหม ลักษณะของเครื่องแต่งกายบุคคลที่ปรากฏในภาพสลัก บุคคลต่างๆ สวมกระบังหน้ายอดทรงกรวย ทรงกรองศอประดับพู่ห้อย พาหุรัด ทรงผ้านุ่งสมพตสั้น มีชายผ้ารูปหางปลาซ้อนกันสองชั้นที่ด้านหน้าผ้านุ่ง ซึ่งจากลักษณะดังกล่าวเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะนครวัด
ประติมากรรมเสาติดผนังและเสาประดับกรอบประตู
เสาประดับกรอบประตูเป็นเสาแปดเหลี่ยมสืบมาจากสมัยพระนครตอนต้น มีการทำลวดลายใบไม้สามเหลี่ยมที่มีขนาดเล็กเรียงต่อกันเหมือนฟันปลา จึงทำให้ด้านแต่ละด้านของเสามีมากกว่า1ใบ ส่วนเสาติดผนัง ปรากฏการทำลายก้านขด และก้านต่อดอก เต็มพื้นที่ลายกลางเสา อีกทั้งยังปรากฏการแทรกภาพเล่าเรื่องลงไปในตัวเสาอีกด้วย เช่น ภาพพระศิวะ
ประติมากรรมเศียรพญานาค
นาค มักพบอยู่โดยทั่วไปในงานศิลปกรรมเขมร โดยมักเป็นองค์ประกอบของทางเดินหรือราวบันไดเสมอ โดยนาคมีเศียร 5 เศียร เศียรทั้งหมดหันหน้าตรงมีการสวมกระบังหน้าและรัศมีเป็นแผ่นเดียวกัน เป็นลักษณะตามแบบศิลปะนครวัด
ประติมากรรมครุฑแบกที่ฐานอาคารพระราชวังหลวง
ประติมากรรมครุฑแบกที่ฐาน ปรากฏเป็นครุฑที่มีเศียรเป็นนก อยู่ในท่ายืนเหยียบอยู่บนเศียรนาค แล้วยกแขนยึดนาคไว้ ลักษณะของการทำประติมากรรมครุฑดังกล่าว เป็นรูปแบบของการทำประติมากรรมครุฑในศิลปะบายน
ประติมากรรมภาพสลักเมืองบาดาลที่ฐานพระราชวังหลวง
ด้านล่างของฐานปรากฏการทำประติมากรรมสลักหินทราย เทวดา นางอัปสร อสูร นาค และพระยม โดยแบ่งเป็นชั้น ตรงกลางด้านล่างของแนวฐานจะปรากฏนาคหลายเศียรอยู่เสมอ รูปแบบประติมากรรมสตรี จะสวมกระบัง ด้านบนมีศิราภรณ์ประดับด้วยช่อดอกไม้ 3 แถว กุณฑลเป็นพู่ห้อยขนาดใหญ่ พระพักตร์แบบบายน กล่าวคือหลับพระเนตรและยิ้มที่มุมพระโอษฐ์เล็กน้อย
ประติมากรรมภาพสลัก เล่าเรื่องกองทัพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ภาพสลักเป็นภาพสลักนูนต่ำ มีสลักภาพเต็มพื้นที่ของผนัง ประติมากรรมบุคคลมีพระพักตร์ตามแบบศิลปะบายน คือ หลับพระเนตรและยิ้มที่มุมพระโอษฐ์เล็กน้อย ไม่สวมเสื้อ มีแต่ผ้านุ่งซึ่งเป็นลักษณะของขบวนของคนทั่วไปไม่ใช่ทหาร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกองเสบียง
ประติมากรรมนางอัปสร
นางอัปสรที่สลักอยู่บนผนัง มีพระพักตร์สี่เหลี่ยม พระพักตร์แบบศิลปะบายน กล่าวคือ หลับพระเนตรและยิ้มที่มุมพระโอษฐ์เล็กน้อย ทรงกระบังหน้า ด้านบนมีศิราภรณ์ประดับด้วยช่อดอกไม้ 3 แถว กุณฑลเป็นพู่ห้อยขนาดใหญ่ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นถือดอกไม้ ทรงผ้านุ่งยาว ด้านข้างผ้านุ่งทั้งสองด้านมีชายผ้ารูปสามเหลี่ยมคล้ายกับหางปลา ชักออกมายาวจรดพื้น ทรงเข็มขัดเป็นแผงขนาดใหญ่ประดับพู่ห้อยโดยรอบ
ประติมากรรมม้าพลาหะ
ม้าพลาหะ เป็นประติมากรรมรูปม้าขนาดใหญ่ หันหน้าเข้าสู่ตัวปราสาทประธาน ที่ประติมากรรมม้าพลาหะ ปรากฏการสลักประติมากรรมบุคคลโดยรอบ