ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมโบสถ์ไคอาโป
โบสถ์แห่งนี้มีแผงด้านหน้า ตามแบบคลาสิก คือมีหน้าบันสามเหลี่ยม รองรับด้วยเสาโครินเธียน ด้านข้างขนาบด้วยหอคอยแปดเหลี่ยมซึ่งมีองค์ประกอบส่วนมากเป็นแบบคลาสิก อย่างไรก็ดี องค์ประกอบเล็กน้อยยังคงแสดงความเป็นบารอคบ้างเช่น การประดับถ้วยรางวัล กรอบหน้าต่างที่หยักโค้ง การใช้ volute ในการค้ำยันหอคอย เป็นต้น
สถาปัตยกรรมโบสถ์บินอนโด
โบสถ์แห่งนี้มีแผงด้านหน้า ตามแบบคลาสิก คือมีหน้าบันสามเหลี่ยม รองรับด้วยเสาไอโอนิกและโครินเธียน น่าสังเกตว่าโบสถ์ส่วนมากในเมืองมะนิลามักมีแผงด้านหน้าแบบคลาสิกเกือบทุกแห่ง หอระฆังของโบสถ์บินอนโด สร้างขึ้นมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 และไม่ได้ถูกทำลายจากสงคราม มีลักษณะเป็นหอระฆังแปดเหลี่ยมที่ซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นลดหลั่น โดยแต่ละชั้นประดับด้วยเสาติดผนังและซุ้ม ด้านบนสุดปรากฏโดมและ Lantern รูปแบบของหอระฆังนี้ทำให้นึกถึงเจดีย์ (ถะ) ในศิลปะจีน
สถาปัตยกรรมมัสยิดสุลต่าน
อิทธิพลแบบอินเดียและมัวร์ที่ปรากฏในมัสยิดแห่งนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับมัสยิดหลายหลังในมาเลเซียซึ่งสร้างขึ้นโดยสถาปนิกชาวอังกฤษเช่นเดียวกัน ลักษณะแบบอินเดียนั้น ได้แก่ลักษณะของโดมซึ่งมีคอทรงกระบอก และการมีกลีบดอกไม้ประดับไปด้านบนโม รวมถึงระเบียบการประดับฉัตรีไว้ที่ด้านบนหอคอย อย่างไรก็ตาม อาร์ควงโค้งหลายวงต่อเนื่องกันที่ปรากฏในส่วนกลางของมัสยิด กลับแสดงให้เห็นอิทธิพลแบบสเปน
สถาปัตยกรรมมัสยิดฮัญญะฮฺ ฟาติมะฮฺ
เป็นมัสยิดที่น่าสนใจมากเนื่องจากผสมผสานระหว่างศิลปะอินเดียแบบโมกุลและศิลปะยุโรป โดยเฉพาะหอคอยของมัสยิดซึ่งสร้างเป็นแบบตะวันตก คือเป็นหอคอยแปดเหลี่ยมที่มียอดเป็นทรงกระโจมแหลมคล้ายคลึงกับหอคอยของโบสถ์ในศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการออกแบบของสถาปนิกชาวอังกฤษ
สถาปัตยกรรมฐานสลักหินจากปราสาทมิเซิน E
ฐานสลักหิน ประกอบไปด้วยบันไดทางขึ้นและตัวฐาน โดยบันไดทางขึ้นได้รับอิทธิพลอินเดียอย่างมาก เช่น ภาพของยักษะหรือเทพเจ้าแห่งพื้นดินกำลังแบกฐาน ราวบันไดที่มีสิงห์คายและตกแต่งไปด้วยลายประจำยามก้ามปู อัฒจันทร์ที่เป็นรูปปีกกา เป็นต้น ส่วนตัวฐานเองก็ได้รับอิทธิพลอินเดียอย่างมาก เช่น ซุ้มซึ่งได้รับอิทธิพลจากกูฑุของอินเดียเป็นต้น
สถาปัตยกรรมเจดีย์บูพยา
เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงลอมฟาง ไม่มีฐาน อัณฑธยืดสูง ยอดมีลกัษณะเป็นทรงกรวยอย่างง่ายๆ ต่อขึ้นไปด้านบน ทั้งหมดนี้มีเค้าโครงคล้ายเจดีย์ในศิลปะศรีเกษตร เช่น เจดีย์ปยามาและเจดีย์โบโบจีเป็นอย่างมาก จึงแสดงให้เห็นว่าอาจสร้างขึ้นก่อนรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา
สถาปัตยกรรมหอพระไตรปิฎก
เป็นตัวอย่างอาคารทรงปราสาท (ปยาทาด) ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งศิลปะพม่า เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสทึบ โดยมีหลังคาลาดซ้อนชั้นกันหลายชั้น ทรงค่อนข้างเตี้ย อาคารแบบนี้ต่อมาจะเป็นต้นเค้าให้กับปยาทาดที่ยืดสูงในศิลปะอมรปุระ-มัณฑเล แม้ว่าไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าอาคารหลังนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้าอโนรธาเพื่อเก็บพระไตรปิฎกจริงหรือไม่ แต่จากรูปแบบอาคารแสดงให้เห็นว่าสร่างขึ้นในสมัยพุกามตอนต้นอย่างแน่นอน
สถาปัตยกรรมมนูหะ
เป็นตัวอย่างอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปหรือที่เรียกว่า “ปฏิมาฆระ” ในศิลปะพุกามตอนต้น มีการวางผังแบบพิเศษโดยให้ปฏิมาฆระจำนวน 4 หลังตั้งอยู่ติดกัน อันได้แก่ปฏิมาฆระของพระพุทธรูปนั่งจำนวนสามหลัง และพระพุทธรูปไสยาสน์จำนวนหนึ่งหลัง