ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธรูป

คำสำคัญ : พระพุทธรูป, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, ศิลปะเขมรในประเทศไทย, พระตรีกาย

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.7576
Long : 100.492222
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661329.97
N : 1521418.09
ตำแหน่งงานศิลปะจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะลพบุรีกับศิลปะปาละ-พุกาม หรือหริภุญชัย สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18

กระบวนการสร้าง/ผลิต

สำริด

ประวัติการอนุรักษ์

ค้นพบที่ตำบลดอนขวาง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

ลักษณะทางศิลปกรรม

ประติมากรรมชุดนี้ประกอบด้วยพระพุทธรูป 3 องค์นั่งเรียงกัน องค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุด ทุกองค์มีรูปแบบเช่นเดียวกัน กล่าวคือ นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย สวมมงกุฏแบบที่เรียกกันว่า เทริดขนนก กุณฑลตวัดงอน เครื่องทรงทั้งสองนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียแบบปาละ ทั้งนี้อาจรับมาโดยตรงหรือรับผ่านศิลปะพม่าแบบพุกามหรือศิลปะหริภุญชัยทางภาคเหนือของไทยก็ได้

พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ยังสวมกรองศอ ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสี่เหลี่ยมยาวจรดกึ่งกลางพระอุทร รองรับด้วยฐานบัวที่ตกแต่งกลีบบัวคว่ำบัวหงาย 3 แนว

พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์วางอยู่บนฐานบัวสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กึ่งกลาง ฉากหลังของแต่ละองค์เป็นซุ้มเรือนแก้วแบบคดโค้งประดับด้วยใบระกา ปลายกรอบด้านนอกของเรือนแก้วด้านซ้ายและขวาทำรูปเศียรนาคคายอุบะ ถัดขึ้นไปจากเรือนแก้วเป็นกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ เข้าใจว่าอาจหมายถึงต้นโพธิ์
สกุลช่างภาคกลาง
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระพุทธรูปสำริดศิลปะลพบุรีที่พบจากจังหวัดอุทัยธานีนี้เป็นตัวอย่างสำคัญของการทำพระพุทธรูป 3 องค์เรียงกัน ยังไม่ทราบคติที่แน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับคติพุทธศาสนามหายานที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามี 3 รูปกาย ได้แก่ นิรมาณกาย สัมโภคกาย และธรรมกาย หรือาจเกี่ยวข้องกับคติอดีตพุทธเจ้า ปัจจุบันพุทธเจ้า และอนาคตพุทธเจ้าก็เป็นได้

รูปแบบศิลปกรรมก็นับว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นการสวมมงกุฏที่เรียกกันว่า เทริดขนนก ซึ่งเกี่ยวข้องกับศิลปะปาละ-พุกาม หรือหริภุญชัยทางภาคเหนือ สะท้อนให้เห็นว่าพระพุทธรูปศิลปะลพบุรีที่พบจากจังหวัดอุทัยธานีองค์นี้มีการผสมผสานแรงบันดาลใจจากแหล่งอื่น ไม่ได้มีแต่ความเกี่ยวข้องกับศิลปะเขมรเท่านั้น

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, เขมรในประเทศไทย
อายุพุทธศตวรรษที่ 18
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง

คติการสร้างพระพุทธรูปเรียงกัน 3 องค์ยังเป็นที่ถกเถียงว่าควรมีความหมายอย่างไร คำอธิบายแรกเห็นว่าพระพุทธรูปแต่ละองค์เป็นตัวแทนของพระอดีตพุทธเจ้า พระปัจจุบันพุทธเจ้า และพระอนาคตพุทธเจ้า เป็นความเชื่อที่สะท้อนว่าก่อนหน้าพระศากยมุนีพุทธเจ้าจะตรัสรู้และสั่งสอนเวไนยสัตว์นั้น เคยมีพระพุทธเจ้ามาก่อนแล้วและในอนาคตกาลก็จะมีพระพุทธเจ้าลงมาตรัสรู้เพื่อสั่งสอนเวไนยสัตว์อีก สื่อถึงความเป็นนิรันดร์ของพุทธศาสนา

คำอธิบายที่สองให้ความหมายพระพุทธรูปแต่ละพระองค์ว่าเป็นตัวแทนของตรีกาย ได้แก่ ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมายกาย ตามความเชื่อในพุทธศาสนามหายานว่า พระพุทธเจ้ามีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนและมีทั้งสิ้น 3 ลำดับ พระอาทิพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าลำดับสูงสุด เทียบได้กับธรรมกาย กายแห่งพระธรรม ลำดับรองลงมาเป็นพระธยานิพุทธเจ้า มีหลายพระองค์ มีกายทิพย์ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ตรงกับสัมโภคกาย พระพุทธเจ้าลำดับล่างสุดคือพระมนุษิพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์และเทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์ เทียบได้กับนิรมาณกาย

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประติมากรรมขอม. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2515.

สุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปะขอม. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2533.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทาลัยศิลปากร, 2547.