ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

วัดพระแก้วน้อย

คำสำคัญ : วัดพระแก้วน้อย, พระนครคีรี, เขาวัง, รัชกาลที่ 4

ชื่อเรียกอื่น-
ชื่อหลักพระนครคีรี
ชื่ออื่นเขาวัง
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลท่าราบ
อำเภอเมือง
จังหวัดเพชรบุรี
ภาคภาคตะวันตก
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.108209
Long : 99.939367
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 601826.06
N : 1449291.53
ตำแหน่งงานศิลปะยอดเขาทิศตะวันออก

ประวัติการสร้าง

สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4

ลักษณะทางศิลปกรรม

สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดพระแก้วน้อย ได้แก่ พระอุโบสถ และพระสุทธเสลเจดีย์ ส่วนพระอุโบสถเป็นอาคารก่อด้วยหินอ่อนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาประดับกระเบื้องซ้อนชั้น เครื่องลำยองประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ขนาบสองข้างด้วยฉัตร 5 ชั้น พื้นหลังเป็นลายก้านขด ซึ่งเป็นฝีมือช่างเพชรบุรี ผนังพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมลายพรรณพฤกษา ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกประดับลวดลายปูนปั้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระนิรัยตรายจำลองและพระแก้วมรกตจำลองส่วนพระสุทธเสลเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถโดยมีทางเชื่อมต่อขึ้นไปยังฐานประทักษิณรอบองค์เจดีย์ องค์เจดีย์ก่อด้วยหินอ่อนที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดมาจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี เรียงต่อกันตามแบบของเจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นพระราชนิยม ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระเจดีย์ด้วย

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

วัดพระแก้วน้อยเป็นเขตพุทธสถานของพระนครคีรีหรือเขาวังซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณเขามไหสวรรย์ในจังหวัดเพชรบุรี นับเป็นพระราชวังแห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมนอกพระบรมมหาราชวัง การสร้างวัดพระแก้วน้อยในเขตพระราชฐานของพระนครคีรีจึงเป็นแนวคิดเดียวกันกับการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง บริเวณวัดพระแก้วน้อยตั้งอยู่ทางยอดเขาทิศตะวันออก สิ่งสำคัญภายในบริเวณวัดพระแก้วน้อยได้แก่ พระสุทธเสลเจดีย์และอุโบสถซึ่งเคยประดิษฐานพระแก้วผลึกและเป็นที่ประทับทรงธรรมในรัชกาลที่ 4

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท, ประเพณีในราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-28
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.

เบญจวรรณ ทัศนลีลพร. การออกแบบพระนครคีรี (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร), 2543.