ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระธาตุหริภุญชัย

คำสำคัญ : เจดีย์ทรงระฆัง, พระธาตุหริภุญชัย, ศิลปะล้านนา, ชินกาลมาลีปกรณ์

ชื่อหลักวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลในเมือง
อำเภอเมือง
จังหวัดลำพูน
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 18.577336
Long : 99.007765
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 500819.34
N : 2054061.8
ตำแหน่งงานศิลปะแกนกลางวัด

ประวัติการสร้าง

พระธาตุหริภุญชัยปรากฏหลักฐานการสร้างในตำนานต่างๆ เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ พงศาวดารโยนก รายละเอียดอาจแตกต่างกันไป แต่เนื้อหาหลักเป็นเช่นเดียวกันว่าพระเจ้าอาทิจจ์ หรือพระเจ้าอาทิตยราชผู้ครองอาณาจักรหริภุญชัยโปรดให้สร้างขึ้น

จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์ให้รายละเอียดกล่าวไว้คล้ายกันในลักษณะตำนานว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จมายังตำแหน่งที่จะสร้างพระธาตุหริภุญชัย มีพุทธทำนายว่าเมื่อพระเจ้าอาทิจจ์ขึ้นครองราชสมบัติจะปรากฏพระบรมสารีริกธาตุขึ้นในที่แห่งนี้

เมื่อพระเจ้าอาทิตยราชขึ้นครองราชสมบัติก็ได้ทราบถึงพุทธทำนายดังกล่าว จึงอาราธนาให้พระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์ขึ้น พระบรมสารีริกธาตุซึ่งบรรจุอยู่ภายในผอบโดยพระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ปรากฏขึ้นต่อหน้าพระพักตร์ ชินกาลมาลีปกรณ์เล่าต่อว่า พระองค์จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ทรงปราสาทสูง 12 ศอก มีเสา 4 ต้น ประตู 4 ด้าน และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุลงในที่นั้น เมื่อ พ.ศ.1607 ครั้นต่อมาพระเจ้าสัพพาสิทธิได้ก่อเสริมให้สูงขึ้นเป็น 24 ศอก

ตำนานอื่นๆ มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น พงศาวดารโยนก กล่าวถึงพระธาตุที่สร้างขึ้นนี้ว่าสูง 1 เส้น 3 วา และยังสร้างโบสถ์ วิหาร การเปรียญ และอื่นๆ

ทั้งนี้น่าเสียดายที่เจดีย์ที่พระเจ้าอาทิตยราชโปรดให้สร้างขึ้นได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่หมดในสมัยล้านนา ไม่สามารถศึกษาได้แล้วในปัจจุบันทั้งนี้ร่องรอยหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรกอาจเกิดขึ้นในสมัยพระยามังราย ดังที่ตำนานมูลศาสนาได้ระบุว่า ให้คนทั้งหลายไปเอาหินมาแล้วก่อครอบให้กลม มิให้เป็นคูหาเหมือนดังก่อน สูงได้ 70 ศอก ตกแต่งให้สวยงาม

จากนั้นได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุหริภุญชัยมาเป็นระยะ ครั้งใหญ่และได้รับการบันทึกไว้ในตำนานฝ่ายเหนือ เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่าพระเจ้าแสนเมืองมาได้หุ้มพระธาตุด้วยแผ่นทองคำหนักสองแสนหนึ่งหมื่น ในขณะที่ตำนานมูลศาสนาระบุว่าหุ้มทองหนักเก้าแสนสามหมื่นห้าพัน จากนั้นยังคงมีการบูรณปฏิสังขรณ์มาเป็นระยะ

ทั้งนี้ได้ค้นพบว่าแผ่นทองบริเวณองค์ระฆังมีพระพุทธรูปดุนนูนประดับอยู่ 8 องค์ โดยองค์หนึ่งมีจารึกกำกับว่า เจ้าหมาเทวีผู้เป็นแม่แก่เจ้าพระยาทั้งสองพี่น้องเป็นผู้สร้าง จากรูปอักษรที่ใช้และเหตุการณ์ประวัติทำให้เชื่อว่าผู้สร้างน่าจะได้แก่พระนางจิตราเทวี ผู้เป็นพระราชชนนีของพระเจ้ากือนากับท้าวมหาพรหม ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองเชียงใหม่และเชียงแสนในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ข้อมูลดังกล่าวนี้อาจทำให้ช่วยกำหนดอายุการสร้างหรือซ่อมแซมพระธาตุหริภุญชัยได้ดียิ่งขึ้น

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. พระธาตุหริภุญชัยเป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ของภาคเหนือ เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้คนมาแต่สมัยหริภุญชัย ล้านนา และปัจจุบัน

2. รูปแบบของพระธาตุหริภุญชัยเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา น่าจะเป็นต้นแบบให้กับเจดีย์องค์อื่นๆอีกหลายองค์นำไปจำลองสร้าง

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานการสร้างพระธาตุหริภุญชัยปรากฏอยู่ในเอกสารล้านนา เช่น จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา รายละเอียดเต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ แต่ละฉบับมีรายละเอียดต่างกันไป แต่ใจความสำคัญตรงกัน สรุปเรื่องว่า วันหนึ่งพระเจ้าอาทิตยราช (อาทิจจ์) เสด็จไปยังซุ้มพระบังคน (ที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ) มีกาตัวหนึ่งถ่ายมูลลงมาต้องพระเศียร เมื่อพระองค์เงยพระพักตร์ขึ้นพร้อมตรัสให้จับกาตัวนั้นก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่กาถ่ายมูลลงมาอีกครั้ง ทำให้เข้าพระโอษฐ์พอดี พระองค์จึงกริ้วมาก เมื่อจับกาตัวนั้นได้จึงจะให้ฆ่าเสีย ทว่าโหราจารย์บอกว่าเหตุการณ์นี้จะนำความสวัสดีมาสู่พระองค์ จึงขังกาไว้ในกรง ตกกลางคืนพระองค์ได้ฝันว่าเทวดาได้มาบอกให้เอาเด็กเกิดได้ 7 วัน มาเลี้ยงไว้กับกา จะได้รู้ทั้งภาษากาและภาษาคน และจะเข้าใจถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกาได้

กาได้เล่าให้เด็กฟังว่า พญากาเฒ่าเผือกเล่าไว้ว่าสถานที่ที่ตั้งซุ้มพระบังคนเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ให้การักษาสถานที่นี้ไว้ ความทราบถึงพระเจ้าอาทิตยราชจึงโปรดให้เชิญพญากาเผือกเฒ่ามาจากป่าหิมพานต์ เพื่อสอบถามเรื่องราวโดยละเอียด

พญากาเผือกเล่าว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมายังสถานที่แห่งนี้ มีพุทธทำนายว่าภายหลังจากพระองค์ปรินิพพานไปแล้วที่แห่งนี้จะเป็นมหานครใหญ่ จะมีกษัตริย์นามว่าพระเจ้าอาทิตยราชครองราชย์ ในสมัยของพระองค์จะมีพระบรมสารีริกธาตุปรากฏขึ้นและประดิษฐานในที่นี้

พระเจ้าอาทิตยราชดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้รื้อซุ้มพระบังคนลง ปรับพื้นที่ใหม่และกระทำให้สะอาดบริสุทธิ์ จากนั้นอธิษฐานจิตอาราธนาให้พระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์ปรากฏขึ้น ในขณะที่พระองค์อธิษฐานอยู่นั้นผอบทองคำบรรจุพระบรมสาริรกธาตุที่ฝังมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชก็ผุดขึ้นมาจากดิน พระองค์ใคร่จะนำไปประดิษฐานที่แห่งอื่น พระบรมสารีริกธาตุจึงกลับลงไปในดินอีกครั้ง พระเจ้าอาทิตยราชจึงอธิษฐานจิตอีกครั้งหนึ่ง พระบรมสาริรกธาตุก็แสดงปาฏิหาริย์ปรากฏขึ้นอีก พระองค์จึงนำเอาผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้บนแผ่นศิลา จากนั้นสร้างเจดีย์ทรงปราสาทครอบทับไว้
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. วัดพระบวช เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพราะมีพัฒนาการทางด้านรูปแบบศิลปะที่สืบเนื่องมาจากพระธาตุหริภุญชัย โดยเฉพาะส่วนฐานบัวและส่วนรองรับองค์ระฆัง อาจกล่าวได้ว่าพระธาตุหริภุญชัยเป็นต้นแบบพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งรูปแบบดังกล่าวได้รับความนิยมจึงปรากฏเจดีย์รูปแบบนี้ในบริเวณอื่นๆ ของอาณาจักรล้านนา

2. เจดีย์วัดใหม่บางกระจะ และเจดีย์วัดแค (ร้าง) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะมีรูปแบบที่เหมือนกัน เข้าใจว่าเจดีย์อาจตั้งใจจำลองพระธาตุหริภุญชัยมาสร้าง โดยกลุ่มผู้สร้างอาจจะเป็นเจ้านายหรือคหบดีเชื้อสายล้านนา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-07-08
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ตำนานมูลศาสนา. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557.

ประภัสสร์ ชูวิเชียร, เจดีย์ประธานวัดบางกะจะสถาปัตยกรรมของชุมชนชาวล้านนาในกรุงศรีอยุธยาเมืองโบราณ 26,4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2543), หน้า 68-75.

รัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. กรงเพทฯ : กรมศิลปากร, 2552.

ศิลปากร, กรม.การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549.