ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระธาตุลำปางหลวง

คำสำคัญ : พระธาตุลำปางหลวง, ปราสาท

ชื่อหลักวัดพระธาตุลำปางหลวง
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลลำปางหลวง
อำเภอเกาะคา
จังหวัดลำปาง
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศารุ้งแวง
Lat : 18.217302
Long : 99.388857
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 541115.01
N : 2014270.9
ตำแหน่งงานศิลปะกึ่งกลางของแผนผังในเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างที่แน่ชัด แต่มีตำนานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระธาตุลำปางหลวงซึ่งกล่าวถึงในสมัยพุทธกาลว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน หรือ บ้านลำปางหลวงในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะชื่อลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร ได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามา 1 เส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนผู้นั้น จึงได้นำพระเกศาบรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา จากนั้นได้ก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน

จากรูปแบบศิลปกรรมของพระธาตุลำปางหลวงสามารถเทียบได้กับเจดีย์องค์อื่นๆ ที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 จึงเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นในระยะนี้ และมีการซ่อมแซมมาโดยตลอด ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2019 โดยพบหลักฐานจารึกที่วัดพระธาตุลำปางหลวงกล่าวถึงการบูรณะพระธาตุและพระเจ้าล้านทองในปีนั้น
ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระธาตุลำปางหลวงเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญลำดับจากส่วนฐานถึงส่วนยอดได้ดังนี้

ฐานบัวสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมขนาดใหญ่ ซึ่งออกแบบคล้ายฐานบัวซ้อนกันสองชั้นแบบที่นิยมในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะของสุโขทัย องค์ระฆังกลมซึ่งตกแต่งด้วยเส้นรัดอกดุนนูน ถัดขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง มีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมืองลำปางที่เชื่อกันว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล และเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต องค์พระธาตุลำปางหลวงยังเป็นตัวอย่างสำคัญของการผสมผสานรูปแบบทางศิลปะระหว่างเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนากับเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย และเชื่อกันว่าเป็นพระธาตุประจำของผู้เกิดปีฉลู

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุพุทธศตวรรษที่ 21
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองลำปางและวัดพระธาตุลำปางหลวง ระบุว่า เมื่อ พ.ศ.2275 พม่าได้ขยายอิทธิพลมายังล้านนา ได้แต่งตั้งเจ้ามหายศผู้ครองนครลำพูนให้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ในบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้นหนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก ได้รวบรวมพลต่อสู้กับทัพเจ้ามหายศแล้วลักลอบเข้ามาในวัดพระธาตุลำปางหลวงใช้ปืนยิงเจ้ามหายศสิ้นชีพและตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป เชื่อกันว่ารอยลูกปืนที่ยิงเจ้ามหายศยังคงอยู่ที่รั้วทองเหลืองซึ่งล้อมองค์พระธาตุลำปางหลวง ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-07-09
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ตำนานพระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ตำนานพระแก้วมรกต และตำนานเจ้าเจ็ดตน. ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง, 2552.

ศิลปากร, กรม.การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549.