ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระปฐมบรมราชานุสรณ์

คำสำคัญ :

ชื่อเรียกอื่นพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1
ชื่อหลักสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์
ชื่ออื่นสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า, สะพานพุทธ, ปากคลองตลาด
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลวังบูรพาภิรมย์
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.740576
Long : 100.498056
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661978.23
N : 1519549.5
ตำแหน่งงานศิลปะเชิงสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร

ประวัติการสร้าง

สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภาขณะนั้นเป็นผู้ทรงออกแบบและอำนวยการก่อสร้าง และ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ปั้นและหล่อด้วยทองสำริด

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ทองสำริด

ขนาดมีความสูงตั้งแต่ฐานตลอดยอด 4.60 เมตร (ต่อมาได้เสริมแท่นสูงขึ้นไปอีกประมาณ 1 เมตร) ฐานกว้าง 2.30 เมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระปฐมบรมราชานุสรณ์เป็นพระบรมรูปประทับนั่งเหนือพระราชบัลลังก์ ผินพระพักตร์มาทางด้านถนนตรีเพชร ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมาลา ทอดพระหัตถ์บนพระแสงดาบที่อยู่เหนือพระเพลา มีฐานหินอ่อนเป็นที่รองรับพระบรมรูปหล่ออีกชั้นหนึ่ง

เบื้องหลังก่อเป็นกำแพงหินอ่อนกั้นตอนกลางเจาะเป็นช่องลึกคล้ายประตู มีเสาหินสลัก 2 ข้าง หน้าบันประดับลายปูนปั้นรุ)พวงมาลัย เหนือหน้าบันสลักรูปอุณาโลม ด้านหลังกำแพงเป็นแผ่นจารึกหินอ่อน จารึกความเป็นมาของการก่อสร้าง และภายหลังได้มีการเสริมกำแพงให้สูงขึ้นไปอีก เบื้องหน้ามีเครื่องบูชา พุ่มดอกไม้ และพานเครื่องประดับ มีน้ำพุ อยู่ทั้ง 2 ข้าง บริเวณหน้าฐานเป็นรั้วคอนกรีตเสากลม ตอนกลางรั้วเป็นแผ่นหินอ่อนคล้ายเป็นลวดลายไทยวางทอดอยู่ กึ่งกลางแผ่นสลักเป็นรูปช้างหันข้างยืนเหนือแท่น ซึ่งเป็นตราปฐมบรมราชจักรีวงศ์
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะสร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงพระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในโอกาสที่กรุงรัตนโกสินทร์จะมีอายุครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2475 จึงทรงพระราชปรารภเรื่องนี้กับคณะรัฐบาลซึ่งได้มีมติให้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติ และก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นทางเชื่อมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีเพิ่มขึ้นอีกเป็นแห่งที่ 2 นอกเหนือจากสะพานพระรามหกที่สร้างมาก่อนแล้ว โดยพระบรมราชานุสาวรรีย์และสะพานนั้นรวมเรียกว่า พระปฐมบรมราชานุสรณ์ กำหนดสร้างสะพานตรงต่อปลายถนนตรีเพชรฝั่งพระนคร คือ ถนนระหว่างวัดราชบูรณะกับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และให้เชิงสะพานฝั่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูป เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานนัก

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

จารุภัทร วิมุตเศรษฐ์. สะพานข้ามเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ : แม็ค, 2553.

สมุดภาพสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี, 2525.

สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร. 225 ปีกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2552.