ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์ศรีสุริโยทัย

คำสำคัญ :

ชื่อหลักวัดสบสวรรค์
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลประตูชัย
อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.352766
Long : 100.547439
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 666869.06
N : 1587299.78
ตำแหน่งงานศิลปะริมถนนอู่ทอง

ประวัติการสร้าง

เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เชื่อว่าเป็นวัดสบสวรรค์ (วัดศพสวรรค์) วัดนี้สร้างขึ้นบนสถานที่ที่ถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยเมื่อ พ.ศ. 2086 ดังข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) และฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “...ให้แต่งการพระราชทานเพลิงศพพระสุริโยทัยซึ่งขาดคอช้างเสร็จ.... ให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้นเป็นพระเจดีย์วิหาร เสร็จแล้วให้นามชื่อวัดศพสวรรค์...” จากขนาดที่ใหญ่โตของเจดีย์องค์นี้ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นเจดีย์ประธานของวัด จึงควรสร้างเมื่อ พ.ศ. 2086

ทั้งนี้พื้นที่ตั้งวัดเป็นส่วนหนึ่งของสวนหลวง จึงเรียกนามวัดนี้อีกนามหนึ่งว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์
ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์ศรีสุริโยทัยเป็นเจดีย์เพิ่มมุมหรือย่อมุม ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศเหนือ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณเพิ่มมุม (หรือย่อมุม)

ฐานขององค์เจดีย์เป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ถัดขึ้นเป็นเรือนธาตุ กลางเรือนธาตุเป็นห้องคูหา มีบันไดทางขึ้นสู่ห้องคูหาอยู่ทางด้านเหนือ กึ่งกลางของเรือนธาตุแต่ละด้านมีมุขยื่นออกมา สันหลังคามุขประดับด้วยเจดีย์ยอด ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซ้อนกัน 3 ชั้น ต่อด้วยองค์ระฆังเพิ่มมุมไม้สิบสอง หรือย่อมุมไม้สิบสอง บัลลังก์ แกนปล้องไฉนซึ่งล้อมรอบด้วยเสาหาร ปล้องไฉน และปลี
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เจดีย์องค์นี้น่าจะเป็นเจดีย์ทรงเพิ่มมุมหรือย่อมุมที่เก่าที่สุดในศิลปะอยุธยา

1. ไม่มีหลักฐานใดๆ ระบุว่าได้บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัยไว้ในเจดีย์องค์นี้ อีกทั้งเมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์ก็ได้พบพระบรมสาริรกธาตุและพระพุทธรูปบรรจุไว้ภายในแกนปล้องไฉนของเจดีย์

2. สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์ศรีสุริโยทัย

3. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง กล่าวถึงเจดีย์องค์นี้ว่าเป็นหนึ่งในห้าของพระมหาเจดียสถานคู่พระนครศรีอยุธยา ความว่า “พระมหาเจดีย์ฐานที่เปนหลักกรุง 5 องค์ คือพระมหาเจดีย์วัดสวนหลวงสพสวรรค์ 1 พระมหาเจดีย์วัดขุนเมืองใจ 1 พระมหาเจดีย์วัดเจ้าพระยาไทย 1 พระมหาเจดีย์วัดภูเขาทอง สูงเส้นห้าวา 1 พระมหาเจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคลสูงเส้นห้าวา 1”

4. หนังสือภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาเอ่ยถึงเจดีย์องค์นี้ว่าเป็นหนึ่งในหลักของกรุงศรีอยุธยา ความว่า “((สะกดตามต้นฉบับ)... อนึ่งเปนหลักกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาราชธานีใหญ่นั้น คือพระมหาประสาทสามองค์กับพระมหาธาตุวัดพระราม 1 วัดหน้าพระธาตุ 1 วัดราชบุณะ1 แลพระมหาเจดียถานวัดสวนหลวงศภสวรรค์ 1 วัดขุนเมืองใจ 1 กับพระพุทธปะฏิมากรวัดพระศรีสรรเพชร์ 1 วัดมงคลบพิท 1 และนอกกรุงเทพฯ นั้น คือพระมหาเจดีย์ยถานวัดเจ้าพญาไทสูงสองส้นหกวา 1 วัดภูเขาทองสูงสองเส้นห้าวา 1 กับพระประธารวัดเจ้าพะอนงเชิงของพระเจ้าสามโปเตียนช่าง ผิดกรวมเงาดวงแก้วยอด พระเจดียวัดเจ้าพญาไทป่าแก้วตกตำบลที่นี้นอกกรุงเทพมหานครแล ฯ”
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะอยุธยา
อายุพุทธศตวรรษที่ 21 รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111)
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

เจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าพระองค์โปรดให้ถ่ายแบบเจดีย์วัดสบสวรรค์ ซึ่งหมายถึงเจดีย์ศรีสุริโยทัยมาสร้าง

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-08
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์เพิ่มมุม เจดีย์ย่อมุม สมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ เจมส์ ทอมป์สัน, 2529.

ศิลปากร, กรม, ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.