ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ
คำสำคัญ : เจดีย์ทรงระฆัง, เจดีย์ทรงกลม, เจดีย์ทรงลังกา, วัดพระศรีสรรเพชญ
ชื่อหลัก | วัดพระศรีสรรเพชญ |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ประตูชัย |
อำเภอ | พระนครศรีอยุธยา |
จังหวัด | พระนครศรีอยุธยา |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 14.355909 Long : 100.558348 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 668043.32 N : 1587655.41 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | แกนกลางของวัด |
ประวัติการสร้าง | พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เช่น ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าเมื่อขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 1977 แล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้ยกพื้นที่พระราชวังเดิมให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ และย้ายพระราชวังไปทางด้านเหนือติดริมน้ำ ดังความว่า “ยกวังทำเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ เสด็จมาอยู่ริมน้ำ” อย่างไรก็ตามไม่อาจทราบแน่ชัดว่าเจดีย์ประธานทั้ง 3 องค์ สร้างขึ้นคราวเดียวกันในรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถหรือไม่ ปัจจุบันข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการสร้างเจดีย์ประธาน 3 องค์นี้อิงกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เช่น ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ มีข้อความตอนหนึ่งที่เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ว่า “ศักราช 854 ชวดศก (พ.ศ.2035) ประดิษฐานมหาสถูปพระบรมธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แลสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า” และฉบับพระราชหัตถเลขามีข้อความคล้ายคลึงกันว่า “ศักราช 836 ปีมะเมีย ฉศก (พ.ศ. 2017) ประดิษฐานพระอัฐิธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า และพระอัฐิธาตุสมเด็จพระอินทราชาไว้ในมหาสถูป” (อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) และฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ระบุเพียงการประดิษฐานพระอัฐิธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไว้ในสถูปเพียงพระองค์เดียว) จากข้อความดังกล่าวนี้ทำให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า มหาสถูปทั้ง 2 องค์นี้ได้แก่เจดีย์ประธานของวัดพระศรีสรรเพชญ โดยสร้างขึ้นครั้งแรก 2 องค์ ต่อมาจึงมีการสร้างเพิ่มเติมอีก 1 องค์ โดยองค์หลังนี้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ต่อมาหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้สันนิษฐานเพิ่มเติมจากแนวทางที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพให้ไว้ โดยเพิ่มเติมความเห็นว่าเจดีย์องค์หลังที่บรรจุพระอัฐิธาตุของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นั้น คงสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4) อย่างไรก็ตามบางท่านว่าเจดีย์ทั้ง 3 องค์ควรสร้างขึ้นมาพร้อมกัน เช่น ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม ให้ความเห็นว่าข้อความในพระราชพงศาวดารที่ระบุว่า “..ประดิษฐานมหาสถูปพระบรมธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แลสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า...” อาจหมายถึงสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 1 องค์ บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ 1 องค์ และบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 อีก 1 องค์ ก็เป็นได้ นอกจากนี้ ผศ. ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ยังเสนอข้อสันนิษฐานที่ต่างออกไปอีก ว่าเจดีย์องค์ทิศตะวันออกน่าจะสร้างขึ้นก่อนในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ส่วนเจดีย์อีก 2 องค์ น่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ก่ออิฐถือปูน |
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | เจดีย์ทรงกลมตั้งเรียงกัน 3 องค์บนฐานไพที มีมณฑปคั่นกลางระหว่างเจดีย์แต่ละองค์ เจดีย์แต่ละองค์ผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์มาแล้วโดยกรมศิลปากร องค์ประกอบตั้งแต่ฐานจนยอดประกอบด้วยชุดฐานเขียง มาลัยเถา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์ แกนปล้องไฉนซึ่งมีเสาหารล้อมรอบ ปล้องไฉน ปลี และเม็ดน้ำค้าง ที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดพระศรีสรรเพชญ ได้แก่ ย่านกลางของเจดีย์มีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ สันหลังคามุขประดับด้วยเจดีย์ยอด |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | 1. วัดพระศรีสรรเพชญมีความสำคัญในฐานะของแบบแผนการสร้างวัดประจำวัง ซึ่งถ่ายทอดประเพณีนี้มายังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดประจำพระบรมมหาราชวังกรุงรัตนโกสินทร์ 2. เจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญถือเป็นตัวอย่างสำคัญในการศึกษาเจดีย์ทรงกลมในศิลปะอยุธยาได้ 2. การทำเจดีย์ทรงกลมเป็นประธานของวัดอาจเกี่ยวข้องกับวัดในสมัยสุโขทัย และนับแต่นี้ไปความนิยมทำเจดีย์ทรงกลมเป็นประธานของวัดก็ยิ่งมีมากขึ้น ในขณะที่การทำปรางค์เป็นประธานของวัดตามแบบอยุธยาตอนต้นค่อยๆเสื่อมความนิยมลง 3. เจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญเป็นหนึ่งในข้อมูลหลักฐานที่สามารถนำไปวิเคราะห์เชื่อมโยงกับหลักฐานอื่นๆ เพื่อหาความสัมพันธ์ทางศิลปวัฒนธรรมระหว่างสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาได้ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | อยุธยา, อยุธยาตอนกลาง |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 21 (รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) หรือรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ.2034-2072)) |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-04-20 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “เจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ อยุธยา ข้อสันนิษฐานใหม่บนหลักฐานเก่า” ใน สรรพศาสตร์ประวัติศาสตร์ศิลป์. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557. ศิลปากร, กรม. พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. พระนคร : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2511. ศิลปากร, กรม, ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542. สันติ เล็กสุขุม. “วัดพระศรีสรรเพชญ วัดในพระราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกครั้ง” ใน สรรพศาสตร์ประวัติศาสตร์ศิลป์. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557. |