ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรม

คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง, จิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรม, วัดบรมนิวาส , วัดบรมสุข

ชื่อเรียกอื่นภาพปริศนาธรรม
ชื่อหลักวัดบรมนิวาส
ชื่ออื่นวัดบรมสุข
ประเภทงานศิลปะจิตรกรรม
ตำบลรองเมือง
อำเภอเขตปทุมวัน
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.751702
Long : 100.519908
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 664328.17
N : 1520784.84
ตำแหน่งงานศิลปะผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างภายในพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน

ประวัติการสร้าง

วัดบรมนิวาสเดิมชื่อวัดบรมสุข เจ้าฟ้ามงกุฎ หรือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.2377 โดยสร้างสิ่งสำคัญต่างๆ ในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ พระเจดีย์ วิหาร และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง แบ่งเป็น 2 เรื่องโดยรอบพระอุโบสถ ได้แก่ ภาพปริศนาธรรม ซึ่งอยู่เหนือช่องประตูและหน้าต่าง และเรื่องวัฒนธรรมประเพณีในพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ระหว่างช่องประตูและหน้าต่าง

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ภาพเขียนสีฝุ่น

ประวัติการอนุรักษ์

กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดบรมนิวาส เมื่อ พ.ศ.2493 ส่วนใหญ่เป็นการบูรณะจิตรกรรมเรื่องประเพณีในพุทธศาสนาซึ่งอยู่ส่วนล่างของผนัง เนื่องจากได้รับความเสียหายอย่างหนักจากความชื้น โดยครั้งนั้นอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ และคณะเป็นผู้เขียนภาพซ่อมแซมขึ้นใหม่

ลักษณะทางศิลปกรรม

ภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่น โทนสีโดยรวมค่อนข้างมืดครึ้ม ใช้หลักทัศนียวิทยา (perspective) อย่างตะวันตก โดยกำหนดเส้นขอบฟ้าเพื่อเป็นจุดนำสายตา ก่อให้เกิดมิติเนื่องจากการแสดงระยะใกล้-ไกลของวัตถุหรือบุคคลในภาพ ใช้เทคนิคการเกลี่ยสีและให้แสงเงา ซึ่งแตกต่างจากการระบายสีแล้วตัดเส้นแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ภาพบุคคลแต่งกายแบบตะวันตก เช่นเดียวกับอาคารบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป แม้ภาพโดยรวมจะมีรูปแบบอย่างตะวันตก แต่ยังคงปรากฏภาพเทวดานางฟ้าแต่งกายทรงเครื่องอย่างไทยประเพณีอยู่ในท่าเหาะบนท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆและกลุ่มดาวต่างๆ ที่ใต้ภาพปริศนาธรรมแต่ละห้องมีข้อความอธิบายความหมายของแต่ละภาพ

สกุลช่างขรัวอินโข่ง
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรมภายในพระอุโบสถวัดบรมนิวาสมีเนื้อหาและรูปแบบที่ใกล้เคียงกับจิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรมภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เนื้อหาของภาพแสดงการอุปมาพระรัตนตรัยและหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา โดยถ่ายทอดผ่านภาพบุคคล สถานที่สำคัญ ยานพาหนะสมัยใหม่ เช่น เรือกลไฟ และทิวทัศน์อย่างตะวันตก และน่าสังเกตว่ามีภาพดวงดาวปรากฏในท้องฟ้าตามหลักดาราศาสตร์ เช่น ภาพดาวเสาร์ที่มีวงแหวนโดยรอบ และกลุ่มดาวต่างๆ ซึ่งสะท้อนแนวคิดแบบสัจนิยม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีภาพเทวดานางฟ้าอย่างไทยประเพณีปะปนอยู่บนท้องฟ้าด้วย

ภาพปริศนาธรรมนับเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังแนวใหม่ในขณะนั้น เนื่องจากมีความแตกต่างจากจิตรกรรมไทยประเพณีที่นิยมเขียนภาพพุทธประวัติ ทศชาดก ไตรภูมิโลกสัณฐาน ซึ่งเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าภาพปริศนาธรรมทั้งสองแห่งเป็นผลงานของขรัวอินโข่งซึ่งเป็นช่างพระ โดยน่าจะได้แรงบันดาลใจจากภาพโปสการ์ดแบบตะวันตกที่แพร่เข้ามาในสยาม การเขียนภาพปริศนาธรรมเหล่านี้เชื่อว่าเขียนขึ้นตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 เพื่อนำเสนอคำสอนในพุทธศาสนาเรื่องการเคารพบูชาพระรัตนตรัย รวมทั้งข้อธรรมะที่พุทธศาสนิกชนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่สอดคล้องกับการปฏิรูปพระพุทธศาสนาและก่อกำเนิดธรรมยุติกนิกาย

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรมที่ผนังเหนือช่องหน้าต่างภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-04-01
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

พลอยไพลิน เทพพงษ์. “งานวิเคราะห์ในมุมมองใหม่ : แนวคิดงานจิตรกรรมภาพปริศนาธรรมในรัชกาลที่ 4” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.

สุธา ลีนะวัต. การศึกษาสัญลักษณ์ในจิตรกรรมภาพปริศนาธรรมของนิกายธรรมยุต. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, 2555.