ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระอิศวร

คำสำคัญ : พระอิศวร, พระศิวะ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

ชื่อเรียกอื่นพระศิวะ
ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลในเมือง
อำเภอเมือง
จังหวัดกำแพงเพชร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 16.488363
Long : 99.52232
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 555746.7
N : 1823028.76
ตำแหน่งงานศิลปะภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

ประวัติการสร้าง

ข้อความจารึกที่ฐานระบุว่าหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2053 โดยเจ้าพระยาศรีธรรมโศก เพื่อให้ครองสัตว์ 4 ตีน และ 2 ตีนในเมืองกำแพงเพชร ทั้งเพื่อช่วยยกพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ (ไสยศาสตร์) และพระเทพกรรม

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อสำริด

ประวัติการอนุรักษ์

พระอิศวรองค์นี้เคยประดิษฐานอยู่ที่เทวาลัยพระอิศวร ถูกคนร้ายโจรกรรมไปแต่ถูกจำกุมได้เสียก่อน ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระอิศวรอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานสี่เหลี่ยม พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นในระดับพระโสณี (สะโพก)

พระพักตร์สี่เหลี่ยม เคร่งขรึม พระเนตรประดับมุก มีพระเนตรที่สามวางขวางตามแนวตั้งอยู่กลางพระนลาฏ พระฑาฏิกะ (เครา) ยาว ทรงกระบังหน้าเหนือพระนลาฏ เกล้าพระเกศาเป็นมวยทรงกระบอก ประดับอุณาโลมที่กลางมวยพระเกศา ทรงกุณฑลทรงตุ้มแหลม สุนทรียภาพโดยรวมแสดงถึงแรงบันดาลใจจากประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์ในวัฒนธรรมลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยเด่นชัดมาก

พระวรกายส่วนบนประดับด้วยกรองศอ พาหุรัดที่ทำเป็นรูปนาค และทรงสังวาลนาค พระวรกายส่วนล่างทรงสมพตสั้น ชักชายผ้าออกมาเป็นวงที่บริเวณพระอุทร ตรงกึ่งกลางมีชายผ้าซ้อนลงมา 3 ชั้นประดับตกแต่งด้วยลายช่อดอกไม้ ส่วนลวดลายของตัวผืนผ้าเป็นเส้นตามแนวตั้งและมีลายที่เชิงผ้า มีเข็มขัดประดับตกแต่งด้วยตุ้งติ้งรัดสมพตนี้ไว้ รูปแบบโดยรวมของสมพตสะท้อนความเกี่ยวข้องกับการนุ่งสมพตในประติมากรรมศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยแบบบายน แต่ขณะเดียวกันการประดับตกแต่งด้วยลายช่อดอกไม้ที่คล้ายงานในสมัยอยุธยาตอนกลาง
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ประติมากรรมนี้เป็นรูปพระอิศวรหรือพระศิวะที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในศิลปะอยุธยา มีข้อความจารึกที่ฐานที่ทำให้ทราบเรื่องราวสำคัญหลายอย่าง อาทิ ศักราชการสร้าง พ.ศ.2053 เอ่ยถึงท่อปู่พญาร่วง

ทางด้านรูปแบบทางศิลปกรรมทำให้ทราบได้ว่า แรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมลพบุรีหรือเขมรยังคงสืบทอดต่อมาในพระอิศวรองค์นี้อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาที่หล่อประติมากรรมนี้เป็นช่วงอยุธยาตอนกลางที่โดยทั่วไปศิลปวัฒนธรรมลพบุรีได้คลี่คลายไปมากแล้วก็ตาม
ยุคประวัติศาสตร์
อายุพ.ศ.2053
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องศาสนาพราหมณ์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

เซเดส์, ยอร์ช. “จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร พุทธศักราช 2053” ใน จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526. หน้า 168-174.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2550.

เอกสุดา สิงห์ลำพอง. “รูปเคารพในศาสนาฮินดูสมัยกรุงศรีอยุธยา” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร), 2550.