ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตู้พระธรรม
คำสำคัญ : ลายรดน้ำ, ตู้พระธรรมลายรดน้ำ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ชื่อหลัก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | จิตรกรรม |
ตำบล | ประตูชัย |
อำเภอ | พระนครศรีอยุธยา |
จังหวัด | พระนครศรีอยุธยา |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 14.350887 Long : 100.561788 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 668418.08 N : 1587102.32 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา |
ประวัติการสร้าง | ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัดเพราะไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรใดระบุ แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมทำให้กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างช้า |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ลงรักปิดทองบนตู้ไม้ หรือเรียกอีกอย่างว่า ลายรดน้ำ |
ลักษณะทางศิลปกรรม | ตู้พระธรรมใบนี้ทำขาตู้ด้วยไม้สี่เหลี่ยมธรรมดา ไม่สลักลวดลายใดๆ นิยมเรียกขาตู้แบบนี้ว่าขาหมู จึงนำไปใช้เรียกตู้แบบนี้ว่า ตู้พระธรรมขาหมู ฝาตู้มีลายลดน้ำ หรือลายลงรักปิดทอง เขียนภาพภูมิจักรวาลในคติพุทธศาสนา ภาพนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยมีเส้นสินเทาคั่นแบ่งระหว่างกัน เบื้องล่างของเส้นสินเทาแสดงภาพป่าหิมพานต์อันเป็นป่าที่ชมพูทวีป บานทางซ้ายมือปรากฏภาพสระอโนดาต เป็นสระน้ำรูปวงกลมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ 4 สาย แม่น้ำแต่ละสายไหลออกมาจากปรากของสัตว์แต่ละชนิด ได้แก่ ช้าง ม้า วัว สิงห์ ส่วนบานทางขวามือเป็นภาพสระน้ำอื่นๆ ในป่าหิมพานต์ แสดงเป็นรูปสระน้ำวงกลมขนาดเล็กที่มีดอกไม้หรือดอกบัวอยู่ภายใน องค์ประกอบส่วนอื่นมีต้นไม้ โขดหิน และสัตว์ต่างๆ ด้านบนของเส้นสินเทาแสดงภาพเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง บนยอดเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่อยู่ของพระอินทร์ มีปราสาทซึ่งคงหมายถึงปราสาทไพชยนต์อยู่ตรงกลาง ช้างอเราวัณอยู่ด้านล่างราวกับว่าแบกปราสาทนี้ไว้ จุฬามณีเจดีย์อยู่ทางขวามือ ถัดลงมาทั้ง 2 ข้างจากเขาพระสุเมรุเป็นเขาสัตตบริภัณฑ์ หรือเขาวงแหวนเจ็ดชั้นที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ แต่ละลูกมีความสูงลดหลั่นกันลงไป แสดงอออกในรูปทรงแท่งเสาจำนวนด้านละ 7 แท่ง แสดงให้เห็นว่าช่างได้วาดภาพเขาสัตตบริภัณฑ์ด้วยมุมมองผ่าแบ่งครึ่ง เหนือเขาแต่ละลูกมีวิมานของเทวดา แวดล้อมเขาพระสุเมรุและเขาวงแหวน 7 ชั้น ยังปรากฏภาพวิมานเทวดาและเหล่าเทวดาในท่าเหาะจำนวนมาก มีวงกลม 2 วงที่แทนพระอาทิตย์และพระจันทร์ด้วย |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | งานลงรักปิดทองที่แสดงภาพภูมิจักรวาลในคติพุทธศาสนาได้งดงามและยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | อยุธยาตอนปลาย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 23-24 |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนา |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-09-30 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ). ตู้พระไตรปิฎก สุดยอดแห่งศิลปะลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2544. เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล. ตู้ลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ : เศรษฐศิลป์, 2559. |