ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระที่นั่งอนันตสมาคม
คำสำคัญ : พระที่นั่ง, พระที่นั่งอนันตสมาคม, พระราชวังดุสิต
ชื่อหลัก | พระราชวังดุสิต |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ดุสิต |
อำเภอ | เขตดุสิต |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.7716329 Long : 100.513189 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 663587.58 N : 1522984.61 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ทิศเหนือของพระบรมรูปทรงม้า |
ประวัติการสร้าง | สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ออกแบบโดยนายมาริโอ ตามานโญ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองก่อสร้าง และมี พระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) เป็นผู้ช่วย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้เสด็จสวรรคตก่อนที่พระที่นั่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี |
---|---|
ขนาด | กว้าง 49.50 เมตร ยาว 112.50 เมตร และสูง 49.50 เมตร |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระที่นั่งอนันตมหาสมาคมมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ (Italian Renaissance) และนีโอคลาสสิก (Neo classic) ตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี มีจุดเด่น คือหลังคาโดมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆโดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดง ภายในพระที่นั่ง บนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เขียนบนปูนเปียก เป็นภาพพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของรัชกาลที่ 1-6 จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของ นายซี. รีโกลีและศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี ได้แก่ เพดานโดมด้านทิศเหนือ เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมร เพดานโดมด้านทิศตะวันออก เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปถัมภ์งานศิลปะ เพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วยพระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนนิกายต่างๆ เพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกทาส เพดานโดมด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ พ.ศ. 2454 เพดานโดมกลาง ซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพดานนับจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกัน “วปร.” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิต ชื่อพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ได้รื้อลงเนื่อจากชำรุด รูปแบบพระที่นั่งมีความโดดเด่นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและตกแต่งอาคารด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ประเพณีในราชสำนัก |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | มีความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมกับศิลปะยุโรปแบบเรเนอสซองส์และนีโอคลาสสิค |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-06-15 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ธงทอง จันทรางศุ. พระที่นั่งอนันตสมาคม. กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์, 2530. พระที่นั่งอนันตสมาคม : สัญลักษณ์ความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติงแอนด์พับลิชชิ่ง, 2555. |