ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพิมพ์

คำสำคัญ : พระพิมพ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พระพุทธเจ้า

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.7576
Long : 100.492222
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661329.97
N : 1521418.09
ตำแหน่งงานศิลปะภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประวัติการสร้าง

ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมทำให้กำหนดอายุได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ดินเผา

ประวัติการอนุรักษ์

พระวินัยมุนีมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2472

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีภาพบุคคลจำนวนมาก พระพุทธเจ้านั่งทำปางสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้ เบื้องล่างปรากฏบุคคล 2 คนซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพญานาคนันทะกับอุปนันทะกำลังชูดอกบัวให้พระพุทธองค์นั่งทำสมาธิอยู่บนนั้น เบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าปรากฏภาพบุคคล 1 คน ในขณะที่ด้านขวาปรากฏภาพบุคคล 3 คน ถัดขึ้นไปในตำแหน่งที่ตรงกับบุคคลทั้งสองข้างก็ปรากฏรูปบุคคลเช่นกัน นับรวมรูปบุคคลได้ทั้งหมด 8 คน เหล่านี้น่าจะได้แก่เทวดาที่ลงมาเฝ้าชมเหตุการณ์ ที่มุมด้านบนทั้งสองข้างปรากฏภาพวงกลมมุมละ 1 วง ภายในมีรูปบุคคลปรากฏอยู่ เชื่อได้ว่าหมายถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ถัดเข้ามาจากพระอาทิตย์พระจันทร์เป็นภาพเทวดาเหาะ

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าพระพิมพ์นี้สร้างขึ้นตามพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี โดยทำตามรายละเอียดของคัมภีร์ทิวยาวทาน อันเป็นคัมภีร์ของพุทธศาสนานิกายมูลสรรวาทสติวาท หากเป็นจริงย่อมหมายความว่าพุทธศาสนาในสังคมทวารวดีมีมากมายหลายนิกาย

พุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถีเพื่อปราบเหล่าเดียรถีย์ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของพุทธศาสนานิกายต่างๆ มีความแตกต่างกันในรายละเอียด สำหรับคัมภีร์ทิวยาวทานซึ่งเป็นคัมภีร์ภาษาสันสกฤตระบุว่า พระพุทธองค์แสดงยมกปาฏิหาริย์อยู่บนดอกบัวที่เนรมิตขึ้นโดยพญานาคนันทะและพญานาคอุปนันทะ เมื่อพระพิมพ์องค์นี้ปรากฏรูปบุคคล 2 คน ในระดับที่ต่ำกว่าบุคคลอื่น อีกทั้งยังชูก้านดอกบัว จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพญานาคนันทะและพญานาคอุปนันทะเนรมิตดอกบัวให้พระพุทธองค์ ตามเรื่องเล่าที่ปรากฏในคัมภีร์ทิวยาวทานนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ได้พบพระพิมพ์แบบนี้ที่จังหวัดราชบุรี จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ที่ด้านล่างมีจารึกคาถาเย ธมฺมา ภาษาบาลี อันเป็นภาษาที่ใช้ในพุทธศาสนาเถรวาท จึงอาจสะท้อนถึงความสัมพันธ์หรือแลกเปลี่ยนกันระหว่างพุทธศาสนานิกายต่างๆ ในสังคมทวารวดี หรืออีกทางหนึ่งข้อสันนิษฐานว่าเป็นพุทธประวัติตอนยมกปาฏิหาริย์ที่มาจากคัมภีร์ทิวยาวทานต้องทบทวนใหม่

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะทวารวดี
อายุพุทธศตวรรษที่ 12-16
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-10-13
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร), 2546.

ผาสุข อินทราวุธ, ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, 2542.

พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.