ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระพุทธรูปประทานพร
คำสำคัญ : พระพุทธรูป, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, ทวารวดี
ชื่อหลัก | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.7576 Long : 100.492222 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661329.97 N : 1521418.09 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ประวัติการสร้าง | ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมทำให้กำหนดอายุได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | สลักหิน |
ประวัติการอนุรักษ์ | ค้นพบจากวัดรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระพุทธรูปปางประทานพรองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตริภังค์บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระพักตร์อิ่ม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำแสดงความสงบ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่น พระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำจนเห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยมและมีชายทบไปมาแบบที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ และเห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง พระกรขวาทอดตัวลงหงายพระหัตถ์ออกด้านหน้า เรียกว่าปางประทานพร พระกรซ้ายเหลือเพียงส่วนบนตั้งแต่พระพาหา (ต้นแขน) จนถึงพระกะโประ (ศอก) แลเห็นหลุมวงกลมที่ใช้สำหรับรับเดือยของพระกรท่อนล่างที่หลุดหายไปแล้ว พระองค์ยืนพักพระบาท (พักขา) โดยสังเกตได้จากพระชานุขวาตึง พระขานุซ้ายหย่อน ทำให้พระโสณี (สะโพก) เยื้องไปทางขวามากกว่าทางซ้าย บางท่านเรียกว่ายืนเอียงสะโพก หรือตริภังค์ (เอียงสามส่วน ได้แก่ พระโสณี พระอังสา และพระเศียร) เพียงแต่พระพุทธรูปองค์นี้ทำพระอังสาแลพระเศียรตรง ในขณะที่ต้นแบบในศิลปะอินเดียจะเอียงทั้ง 3 ตำแหน่งชัดเจน พระบาททั้งสองรองรับด้วยฐานสลักกลีบบัวคำว่ากลีบบัวหงาย ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก เป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดีอันมีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระพุทธรูปศิลปะทวารวดีที่อยู่ในอิริยาบถยืนตริภังค์ที่สมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ สะท้อนความใกล้ชิดกับพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบคุปตะ-หลังคุปตะ |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ทวารวดี |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 12-14 |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนา |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-08-19 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | บวสเซอลีเย่, ฌอง. “ศิลปะทวารวดี”, แปลโดย หม่อมเจ้าสุภทัรดิศ ดิศกุล, ศิลปากร, ปีที่ 11, ฉบับที่ 5 (มกราคม 2511), หน้า 35-64. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547. |