ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วัดปรมัยยิกาวาส
คำสำคัญ : วัดปรมัยยิกาวาส, วัดปากอ่าว
ชื่อหลัก | วัดปรมัยยิกาวาส |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดปากอ่าว เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | เกาะเกร็ด |
อำเภอ | ปากเกร็ด |
จังหวัด | นนทบุรี |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.912798 Long : 100.49011 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 660994.78 N : 1538585.64 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | บนเกาะเกร็ด |
ประวัติการสร้าง | วัดปรมัยยิกาวาส เดิมชื่อวัดปากอ่าว สันนิษฐานว่ามีมาแล้วตั้งแต่สมัยธนบุรี เป็นวัดที่ชาวมอญในละแวกนั้นใช้เป็นสถานที่ทำบุญ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯมาถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามรามัญในเขตเมืองนนทบุรี ซึ่งวัดปากอ่าวเป็นหนึ่งในนั้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอารามนี้ทั้งอารามเพื่อเป็นการสนองพระเดชพระคุณของพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอัคนีศราภัย จางวางแสงปืนต้น เป็นแม่กองในการบูรณะ พร้อมได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดปรมัยยิกาวาศ แปลว่า วัดของยาย ภายหลังจึงเปลี่ยนวิธีสะกดเป็นวัดปรมัยยิกาวาส |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | วัดปรมัยยิกาวาสมีพระอุโบสถเป็นประธาน หน้าบันประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 5 รูปพระจุลมงกุฎ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานและพระสาวก จิตรกรรมฝาผนังภายในเขียนเรื่องธุดงควัตรและพุทธประวัติภายหลังการตรัสรู้ ฝีมือของหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ด้านหลังพระอุโบสถคือพระมหารามัญเจดีย์ ภายในวัดยังมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปหินอ่อนและพระนนทมุนินท์ พระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี เพดานตกแต่งด้วย ศาลารับเสด็จ และพระเจดีย์มุเตา เจดีย์ในศิลปะมอญสีขาวริมน้ำ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งวัดโดยรักษารูปแบบมอญไว้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สนองพระคุณพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ และได้พระราชทานนามวัดว่า วัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งมีความหมายว่า "วัดของพระบรมอัยยิกา" โดยมีสิ่งสำคัญที่โดดเด่นของวัดคือพระเจดีย์แบบมอญที่ทรุดเอนอยู่ริมแม่น้ำซึ่งจำลองจากพระธาตุมุเตาอันเป็นเคารพสักการะของชาวมอญ วัดปรมัยยิกาวาสนี้เดิมมีชื่อในภาษามอญว่า เภี่ยมุเกี้ยะเติ้ง ซึ่งปัจจุบันเพี้ยนเป็น เภี่ยเมี้ยงฮะเติ้ง แปลว่า วัดหัวแหลม แต่ไทยเรียกว่า วัดปากอ่าว |
ข้อสังเกตอื่นๆ | 1. พระมหารามัญเจดีย์ เป็นเจดีย์ซึ่งจำลองมาจากเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง แต่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางประการเนื่องจากขนาดที่เล็กกว่ามาก 2. พระเจดีย์มุเตาหรือเจดีย์เอียง เป็นเจดีย์ที่จำลองมาจากเจดีย์ชเวมอดอหรือพระธาตุมุเตาที่เมืองหงสาวดี 3. บานประตูของพระอุโบสถปรากฏสัญลักษณ์สำคัญ 3 ประการ ด้านบนสุดเป็นตราพระราชลัญจกรในช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 ตรงกลางเป็นรูปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้านล่างเป็นภาพสมุดไทยบนพานแว่นฟ้า มีโครงประวัติวัดปรมัยยิกาวาสจารึกไว้แต่ปัจจุบันลบเลือนไปแล้ว |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์, มอญ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. เจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ พระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมอญ และเป็นต้นแบบในการจำลองไปสร้างเจดีย์ในที่ต่างๆ รวมถึงพระมหารามัญเจดีย์ 2. วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วัดที่สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพดานของพระอุโบสถตกแต่งด้วยลวดลายเครื่องราชอิสสริยาภรณ์เช่นเดียวกับที่วิหารพระพุทธไสยาสน์ |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-05-03 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล |
บรรณานุกรม | ประยูร อุลุชาฎะ. วัดปรมัยยิกาวาส. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2546. ประวัติวัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ: บริษัท เท็คโปรโมชั่น แอนด์ แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด, 2538. เชษฐ์ ติงสัญชลี. รายงานฉบับสมบูรณ์ประเด็นใหม่เกี่ยวกับเจดีย์แบบมอญและแบบพม่าในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554. พิศาล บุญผูก. วัดในอำเภอปากเกร็ด. นนทบุรี: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการแก่สังคม สำนักบรรณาสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2553. |