ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

คำสำคัญ : พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, โบสถ์วัดพระแก้ว

ชื่อหลักพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ชื่ออื่นโบสถ์วัดพระแก้ว
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.751316
Long : 100.492618
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661377.14
N : 1520723.14
ตำแหน่งงานศิลปะภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ประวัติการสร้าง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช ถวายพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นเทเวศร์วัชรินทร์ ทรงกำกับการสร้างด้วยมูลเหตุว่า

1. ทรงสร้างเพื่อให้เป็นพระราชกุศลใหญ่และเป็นพระเกียรติยศโดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระอัยกาธิราชจักรพรรดินาถบพิตรเช่นเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์และพระบรมรูปพระเชษฐบิดรครั้งกรุงศรีอยุธยา

2. เพื่อเปลี่ยนการขนานนามพระเจ้าแผ่นดินที่เคยเรียกรัชกาลที่ 1 ว่า แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ หรือแผ่นดินต้น เป็นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธเลิศหล้าสุราลัยเพื่อถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยมีรูปแบบและคติความเชื่อเช่นเดียวกันกับพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้ทรงแก้ไขสร้อยนามใหม่เป็น พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

กระบวนการสร้าง/ผลิต

หล่อด้วยสำริดปิดทองและประดับอัญมณี

ประวัติการอนุรักษ์

-

ขนาดสูงจากฐานถึงยอดมงกุฎ 300 เซนติเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ พระพักตร์สงบนิ่งอย่างหุ่น พระขนงโก่ง มีอุณาโลมบนพระนลาฏ ทรงมงกุฎประกอบด้วยกรรเจียกจร พระพุทธรูปแสดงปางห้ามสมุทร หรือประทานอภัย 2 พระหัตถ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สวมกรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ สายรัดพระองค์มีปั้นเหน่งรูปดอกไม้แปดเหลี่ยม ด้านล่างมีสุวรรณกระถอบห้อยอยู่เบื้องหน้า มีทั้งชายไหวชายแครง ทรงทองพระบาทและฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือฐานสิงห์มีสิงห์แบก ครุฑแบกและเทวดาแบกลดหลั่นกัน

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. พระพุทธรูปสร้างถวายแด่บูรพกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 3

2. ตัวอย่างพระพุทธรูปทรงเครื่องที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีเครื่องทรงสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง

ข้อสังเกตอื่นๆ

นอกจากพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว ภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องต้น ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลแด่พระบรมราชวงศ์อีกหลายองค์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีขนาดเล็กกว่าสององค์แรก (สูงโดยเฉลี่ย 260 – 290 เซนติเมตร)

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท , ศิลปะในราชสำนัก
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

-

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระพุทธรูปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2017-05-02
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
บรรณานุกรม

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขา, 2535.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

ชื่นสุข กาญจนภิญโญวงศ์. “พระพุทธปฏิมาสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 5 : การเปลี่ยนแปลงคติการสร้างและรูปแบบศิลปกรรม.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

กุมารี ทองเผือก. “ลักษณะลวดลายและกรรมวิธีทำเครื่องทรงของพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.