ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มัสยิดต้นสน
คำสำคัญ : มัสยิด, มัสยิดต้นสน, พระเจ้าทรงธรรม, อยุธยา, ชุมชนบางกอกใหญ่, บางหลวง
ชื่อเรียกอื่น | กุฎีบางกอกใหญ่, กุฎีใหญ่ |
---|---|
ชื่อหลัก | มัสยิดต้นสน |
ชื่ออื่น | มัสยิดกุฎีใหญ่ |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | วัดอรุณ |
อำเภอ | เขตบางกอกใหญ่ |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.739897 Long : 100.488686 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 660959.71 N : 1519457.26 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กึ่งกลางอาราม |
ประวัติการสร้าง | มัสยิดต้นสนสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลของพระเจ้าทรงธรรม โดยเป็นอาคารไม้อย่างง่ายและต่อเติมเรื่อยมา ก่อนจะมีการสร้างมัสยิดหลังใหม่โดยใช้ช่างจากราชสำนักมาสร้าง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนโดยนำต้นแบบมาจากพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2359 ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 มัสยิดเดิมอยู่ในสภาพทรุดโทรมจึงมีการรื้อลงและสร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กและใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2552 มัสยิดหลังเดิมเริ่มทรุดตัวจึงได้มีการบูรณะมัสยิดครั้งใหญ่อีกครั้ง |
---|---|
ลักษณะทางศิลปกรรม | มัสยิดต้นสนมีอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้อง มีลูกกรงโปร่งอยู่ตลอดแนวหลังคาและกันสาดยื่นออกมา ผนังอาคารเป็นสีน้ำตาลมีการตกแต่งผนังด้านนอกด้วยลายปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาและเรขาคณิต กรอบประตูและหน้าต่างมีลักษณะคล้ายเกือกม้า ตรงกลางมีมุขยื่นออกมามีโดมทรงกระบอกอยู่ด้านบน ฐานโดมมีซี่คาดโดยรอบ ด้านในโดมทำเป็นโครงสร้างแบบรวงผึ้ง ภายในเป็นสถานที่ทำละหมาด มีมิร์หรอบเป็นชุดเดียวกับกำแพงกิบลัต ตัวมิร์หรอบทำจากหินอ่อนมีการเจาะช่องโค้งตกแต่งด้วยงานปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาและข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอาน มีมิมบัรตั้งอยู่ด้านข้าง เพดานมีโคมไฟหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือโคมไฟพระราชทานในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้มัสยิดต้นสน |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | มัสยิดต้นสนเป็นมัสยิดของผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในย่านชุมชนบางกอกใหญ่ บ้างเรียกว่า กุฎีบางกอกใหญ่ ส่วนชื่อมัสยิดต้นสนนั้น ได้มาจากต้นสนคู่ที่ปลูกใหม่หน้าประตูกำแพงหลังเสร็จสิ้นการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ สันนิษฐานว่าน่าจะมีมัสยิดในชุมชนแห่งนี้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้ซ่อมสร้างต่อมาอีกหลายสมัย รูปแบบของมัสยิดในปัจจุบันเป็นแบบร่วมสมัยโดยผสมผสานศิลปะอิสลามในอียิปต์กับศิลปะอิสลามในสเปนและโมร็อคโค |
ข้อสังเกตอื่นๆ | 1. มัสยิดหลังปัจจุบันใช้รูปแบบเดิมของมัสยิดหลังที่ 3 โดยเพิ่มช่องรูปเกือกม้า ลายปูนปั้น ทาสีใหม่และทำมิร์หรอบและมิมบัรขึ้นใหม่เท่านั้น 2. สาเหตุที่มัสยิดต้นสนใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมจากอียิปต์นั้นเนื่องมาจากอียิปต์เป็นประเทศที่สัปบุรุษหลายคนสำเร็จการศึกษาและเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งของโลก |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | กลางพุทธศตวรรษที่ 26 |
ศาสนา | อิสลาม |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ศาสนาอิสลาม |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. มัสยิด Amir Aqsunqur ตัวอย่างมัสยิดในอียิปต์ที่มัสยิดต้นสนรับเอารูปแบบของโดมและสีอาคารมาใช้กับมัสยิดหลังปัจจุบัน 2. มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะฮ์ มัสยิดรุ่นหลังที่ใช้แนวความคิดในการสื่อถึงวัฒนธรรมอิสลามควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ระหว่างมัสยิดกับชุมชนและสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับมัสยิดต้นสน 3. แม้อาคารสถาปัตยกรรมจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง แต่มัสยิดแห่งนี้ยังเก็บรักษาหลักฐานอันแสดงถึงความเก่าแก่ของมัสยิดแห่งนี้ไว้ เช่น มิร์หรอบทรงไทยที่อาจเก่าถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือ คัมภีร์อัลกุรอานฉบับคัดลายมืออายุกว่า 100 ปี 4. กุโบร์หรือสุสานของมัสยิดเป็นที่ฝังร่างของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์หลายท่าน เช่น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) พระยาราชวังวัน (ฉิม) หลวงโกชาอิศหาก รวมถึงจุฬาราชมนตรีในสายสกุลเฉกอะหมัดและเจ้าจอมเชื้อสายมุสลิม |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2017-02-24 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | คณะกรรมการจัดงานเสวนา “มุสลิมมัสยิดต้นสนกับบรรพชนสามยุคสมัย”. มุสลิมมัสยิดต้นสนกับบรรพชนสามยุคสมัย. กรุงเทพฯ: หจก. จิรวัชการพิมพ์, 2544. วสมน สาณะเสน. “แนวคิด รูปแบบและพัฒนาการของมิหร็อบของมัสยิดต้นสน เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร.” วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557 อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. มัสยิดในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557. เสาวลักษณ์ พงษธา โปษยะนันท์ และคณะ. 174 มรดกสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม, 2547. |