ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ท้องพระโรง วังท่าพระ

คำสำคัญ : ท้องพระโรง, วังท่าพระ, กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์, รัชกาลที่ 3, มหาวิทยาลัยศิลปากร

ชื่อเรียกอื่นหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
ชื่อหลักมหาวิทยาลัยศิลปากร
ชื่ออื่นวังหน้าพระลานวังตะวันตก, วังท่าพระ, วังท่าช้าง
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.752841
Long : 100.490011
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661094.13
N : 1520890.09
ตำแหน่งงานศิลปะภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร

ประวัติการสร้าง

ท้องพระโรงแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในวังท่าพระ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่ประทับของเจ้านายอีกหลายพระองค์ จนเมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เสด็จมาประทับในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการบูรณะปรับปรุงท้องพระโรงโดยยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ ปัจจุบันใช้เป็นหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492

ขนาด5 ห้อง
ลักษณะทางศิลปกรรม

ท้องพระโรงเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันด้านแป หรือด้านยาวออกหน้าวัง หลังคงทรงไทยชั้นเดียวมุงกระเบื้องไม่มีมุขลด เครื่องลำยองประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่มีนาคสะดุ้งหน้าบันแบบฝาปะกน มีบันไดใหญ่ทางด้านหน้า ลูกกรงกำแพงแก้วเป็นเหล็กหล่อลวดลายแบบสมัยวิคตอเรียน พื้นภายในเป็นไม้ มีเสาไม้กลมเซาะร่องมีฐานแบบตะวันตกเรียงรายตลอดความยาวของอาคาร ด้านหลังมีโถงทางเดินเชื่อมไปยังตำหนักกลาง

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ท้องพระโรงเป็นสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ที่สุดของวังท่าพระ ซึ่งเป็นวังที่อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง ท้องพระโรงนี้เป็นสถานที่เสด็จออกทรงงานของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อครั้งที่ทรงครองวังท่าพระ ก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 รูปแบบอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีที่แสดงฐานานุศักดิ์ของอาคารในวัง เช่น การประดับช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ แต่มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงฐานานุศักดิ์ที่รองลงมาจากอาคารในพระบรมมหาราชวัง ดังจะเห็นได้จากการประดับกระเบื้องมุงหลังคาเพียงชั้นเดียวและสีเดียว ไม่ประดับนาคสะดุ้ง

ข้อสังเกตอื่นๆ

1. การที่ท้องพระโรงไม่ปรากฏมุขลดแสดงว่าเป็นท้องพระโรงที่สร้างให้กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า

2. ในบรรดาหมู่อาคารที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีเพียงท้องพระโรงเท่านั้นที่ยังคงปรากฏหลักฐานมาจนถึงทุกวันนี้

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์, รัตนโกสินทร์ตอนต้น
อายุต้นพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องสถาปัตยกรรมในราชสำนัก
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ภายในท้องพระโรงมีเสาตกน้ำมันอยู่ต้นหนึ่ง ปิดทองคำเปลวไว้ประปราย เล่ากันว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ประทับอยู่ที่นี่ในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ท้องพระโรงกั้นฝาเฟี้ยมไว้ตามแนวเสาด้านหน้าตลอด แยกในประธานเป็นเขตชั้นใน ด้านหน้าตั้งพระแท่นติดกับเสาต้นที่ 2 จากตะวันออก ใช้สำหรับประทับบ้าง บรรทมบ้าง เอกเขนกบัญชาราชการอยู่บนพระแท่นเป็นประจำ เมื่อทราบประวัติของเสาก็เกิดความเกรงกลัว ยิ่งเห็นเสาตกมันก็ยิ่งตื่นเต้นเล่าลือกันยิ่งขึ้น ทำให้มีคนแอบมาบนบานและเมื่อสำเร็จสมปรารถนาแล้วก็ขออนุญาตถวายพวงมาลัยบูชาอยู่เนืองๆ

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ท้องพระโรงของพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงฐานานุศักดิ์เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ไม่ประดับนาคสะดุ้ง หลังคาชั้นเดียวมุงกระเบื้องเคลือบสีเพียงสีเดียว แต่พระที่นั่งศิวโมกข์พิมานเป็นท้องพระโรงวังหน้าจึงมีขนาดใหญ่กว่าท้องพระโรงวังท่าพระ

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2026-02-17
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

กองโบราณคดี กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2535.

นิทรรศการ “วังท่าพระ : ศูนย์กลางชองช่างสิปป์หมู่ 200 ปี” กรุงเทพฯ: ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

สมบัติ พลายน้อย. วังเจ้านาย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2539.

ดวงจิตต์ จิตรพงศ์, ม.จ. ป้าป้อนหลาน. กรุงเทพฯ: วัฒนชัย, 2531.