ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
คำสำคัญ :
ชื่อเรียกอื่น | พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช,อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน |
---|---|
ชื่อหลัก | วงเวียนใหญ่ |
ชื่ออื่น | วงเวียนพระเจ้าตากสิน |
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | บางยี่เรือ |
อำเภอ | เขตธนบุรี |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.72632 Long : 100.493074 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661443.53 N : 1517958.21 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางวงเวียนใหญ่ |
ประวัติการสร้าง | ในปี พ.ศ. 2477 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนจังหวัดธนบุรีในขณะนั้นได้เสนอเรื่องต่อคณะคณะรัฐมนตรีให้สร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ในปีต่อมา รัฐบาลรับเรื่องมาดำเนินการโดยกำหนดให้ตั้งอนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ หลวงวิจิตรวาทการได้สั่งให้ออกแบบอนุสาวรีย์ทั้งสิ้น 7 แบบตั้งแสดงในงานรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2480 ให้มหาชนลงคะแนน ต่อมา การดำเนินการได้หยุดชะงักลงเพราะสงครามโลก 2 และปัญหาการเมือง ก่อนจะกลับมาดำเนินการใหม่ในปี พ.ศ. 2491 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ และนายเพทาย โชตินุชิต ได้ทำการรื้อฟื้นโครงการขึ้นใหม่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้อนุมัติเงินจำนวน 200,000 บาทเป็นทุนเริ่มแรก และได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่ โดยให้กรมศิลปากรซึ่งมอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ มีนายพิมาน มูลประมุข นายสิทธิเดช แสงหิรัญ และนายแสวง สงฆ์มั่งมีเป็นผู้ช่วย ซึ่งงานทั้งหมดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2497 สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งหมด 5,197,882.45 บาท มีพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 โดยกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ประติมากรรมหล่อโลหะรมดำ ฐานหล่อคอนกรีตเสริมเหล็ก |
ประวัติการอนุรักษ์ | - |
ขนาด | สูงประมาณ 15 เมตร จากแท่นที่ม้ายืนถึงพระหัตถ์ที่ชูพระแสงดาบ 4 เมตร 20 เซนติเมตร จากพื้นดินถึงแท่นที่ม้ายืน 9 เมตร 90 เซนติเมตร |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระบรมรูปมีขนาดสองเท่าครึ่งของพระองค์จริง ทรงม้าพระที่นั่งออกศึก ทรงเครื่องกษัตริย์และสวมพระมาลา พระหัตถ์ขวาเงื้อพระแสงดาบในท่านำพล พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมบังเหียน ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ทางจังหวัดจันทบุรี ประดิษฐานบนแท่น ทั้งสองด้านประดับด้วยประติมากรรมนูนสูงเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้านละ 2 กรอบ รวม 4 กรอบ เล่าเหตุการณ์ 4 เหตุการณ์ได้แก่ ภาพประชาชนหมดหวังเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่า ภาพพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเกลี้ยกล่อมประชาชนให้ร่วมกันกู้อิสรภาพ ภาพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีออกรบและได้รับชัยชนะทุกครั้ง และภาพความผาสุกของประชาชนหลังจากกู้เอกราชได้แล้ว ด้านหน้ามีแผ่นจารึกดวงฤกษ์และข้อความเทิดพระเกียรติ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างขึ้น ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกแบบและควบคุมการหล่อโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นพระบรมสมเด็จพระเจ้าตากสินประทับบนหลังม้า ในการออกแบบพระราชานุสาวรีย์นี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้ใช้ใบหน้าของนายทวี นันทขว้าง และนายจำรัส เกียรติก้องเป็นต้นแบบสำหรับปั้นพระพักตร์และใช้ม้าของกรมทหารม้ารักษาพระองค์บางซื่อจำนวนหนึ่งเป็นแบบสำหรับม้าพระที่นั่ง ทางรัฐบาลได้ให้ประชาชนออกเงินบริจาคสร้างพระบรมราชุสาวรีย์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ออกเสียงเลือกแบบซึ่งเสียงส่วนใหญ่เลือกแบบดังที่เห็นในปัจจุบัน เนื่องจากในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนหลังจากการเสียกรุงครั้งที่สอง ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันถวายบังคมพระบรมราชาอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จะมีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระองค์ ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ วงเวียนใหญ่ |
ข้อสังเกตอื่นๆ | - |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | - |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | - |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบรมรูปทรงม้า กรุงเทพมหานคร |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2017-07-31 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. อนุสาวรีย์ในประเทศไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2539. กฤษณา หงส์อุเทน. “อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : ดอกผลของศิลปะเรอเนสซองส์ของอิตาลีในสยาม” ศิลปวัฒนธรรม. 31, 2 (ธันวาคม 2552): 104 – 117. “จดหมายเหตุศิลปิน : อาจารย์ศิลปะปั้นอนุสาวรีย์พระเจ้าตาก : ม้าหางชี้ จะขี้ใช่ไหม” ศิลปวัฒนธรรม. 6, 1 (พฤศจิกายน 2527): 104 – 111. ประพัฒน์ ตรีณรงค์. “พระบรมรูปพระราชอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี” ศิลปากร. 24, 1 (มีนาคม 2523): 43 – 59. |